กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือสำนักงานทรัพย์สินอุตสาหกรรมแห่งประเทศฝรั่งเศส (INPI) ขยายโอกาสสินค้าแฟชั่นไทยเข้าสู่ตลาดฝรั่งเศส และถกสมาคมการค้าตัวแทนผู้ผลิตแชมเปญผลักดันผ้า GI ไทยเป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์แชมเปญ พร้อมดูงานการผลิต การทำตลาด การควบคุมคุณภาพ การป้องกันการละเมิด เพื่อนำมาปรับใช้ส่งเสริมสินค้า GI ของไทย
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาได้นำคณะพบนายปาสคาล โฟร์ อธิบดีสำนักงานทรัพย์สินอุตสาหกรรมแห่งประเทศฝรั่งเศส (INPI) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้หารือความร่วมมือระหว่างกรมฯ กับ INPI เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น การส่งเสริมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในเชิงพาณิชย์ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาไทยในตลาดแฟชั่นฝรั่งเศส และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทยเพื่อพร้อมรุกตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ กรมฯ จะร่วมกับ INPI เตรียมจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนข้อมูลการคุ้มครองลิขสิทธิ์ และการออกแบบแฟชั่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์และปูทางให้นักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่ของไทยเข้าใจแนวทางการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในฝรั่งเศส และพร้อมที่จะบุกตลาดฝรั่งเศสได้อย่างมั่นใจต่อไป
ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้หารือกับสมาคมการค้าตัวแทนผู้ผลิตแชมเปญในประเทศฝรั่งเศส (Comité Champagne) เพื่อผลักดันการนำผ้า GI ไทยที่เนื้อผ้ามีเอกลักษณ์และลวดลายสวยงาม ทั้งผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร และผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าแชมเปญ ซึ่งเป็นอีกนโยบายสำคัญของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้เพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสินค้า GI ไทยไปยังต่างประเทศ ผ่านการจับคู่กับสินค้าที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก
นอกจากนี้ กรมฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นเกี่ยวกับการผลิต การทำการตลาด การควบคุมดูแลคุณภาพ และชื่อเสียงของสินค้าแชมเปญ ตลอดจนการดำเนินการต่อสินค้าแชมเปญปลอม เพื่อนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ในการยกระดับคุณภาพสินค้า GI ของไทยให้ได้คุณภาพทัดเทียมระดับสากลด้วย
ปัจจุบันไทยมีสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศแล้วทั้งสิ้น 179 รายการ โดยเป็นสินค้าไทย 161 รายการ และสินค้าต่างประเทศ 18 รายการ รวมถึงแชมเปญและคอนญักฝรั่งเศส และไทยยังมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคุ้มครอง GI ในสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งครอบคลุมถึงประเทศฝรั่งเศส เช่น กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง โดยที่ผ่านมาสินค้า GI ไทยสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้มากกว่า 42,000 ล้านบาท