xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟ "ไทย-จีน" ลุ้นคำตอบอัยการ-กรมบัญชีกลาง เคลียร์ปมสถานีอยุธยาเร่งเซ็นรับเหมาช่วงรอ EIA

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.เร่ง 3 สัญญารถไฟ "ไทย-จีน" ติดหล่ม ลุ้นอัยการสูงสุดและกรมบัญชีกลาง ตอบปมสถานีอยุธยา ขอเซ็นจ้างรับเหมาแบบมีเงื่อนไขช่วงรอ EIA ส่วนร้องเรียนช่วง 3-1 ทำคำแถลงขอศาลเร่งพิจารณาช่วงทับซ้อนไฮสปีด 3 สนามบิน คาดเริ่มสร้างต้นปี 66 

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (รถไฟไทย-จีน) ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ว่า รฟท.อยู่ระหว่างเร่งแก้ปัญหางานโยธาที่ยังไม่สามารถก่อสร้างได้จำนวน 3 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว และสัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า, สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง  

ทั้งนี้ มี 2 สัญญาที่ประกวดราคาแล้วแต่ยังไม่สามารถลงนามได้ คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม.
วงเงิน 9,913 ล้าบาท เนื่องจากมีประเด็นแบบที่ใช้ในการประมูลช่วงสถานีอยุธยา เป็นแบบตามรายงาน EIA ฉบับปรับปรุง ซึ่งยังไม่ได้รับอนุมัติ ซึ่งการลงนามในสัญญาจ้างจะต้องใช้แบบตามรายงาน EIA ฉบับเดิมที่ได้รับอนุมัติแล้ว 

แนวทางแก้ไข คือ รฟท.จะลงนามก่อสร้างสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว กับผู้รับจ้างแบบมีเงื่อนไข โดยจะยังไม่ก่อสร้างช่วงสถานีอยุธยาจนกว่าแบบของสถานีจะได้รับอนุมัติ EIA ซึ่ง รฟท.ได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมบัญชีกลาง เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยสอบถามอัยการสูงสุดว่าสามารถทำสัญญาโดยมีเงื่อนไขว่าจะยังไม่ก่อสร้างสถานีอยุธยาจนกว่ารายงาน EIA จะได้รับอนุมัติได้หรือไม่ และสอบถามกรมบัญชีกลางเรื่องระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่  

สำหรับผู้รับจ้างนั้น รฟท.ได้เจรจากับผู้เสนอราคาลำดับที่ 3 บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (ในเครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริง) ที่วงเงินอยู่ที่ 10,326 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าราคากลางที่ 11,801 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว 

สัญญานี้ เดิมมี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,913 ล้านบาท แต่ไม่ยืนราคา ส่วนลำดับที่ 2 ปฏิเสธการเจรจา รฟท.จึงเชิญผู้เสนอราคาลำดับที่ 3 มาเจรจาตามขั้นตอน 

แหล่งข่าวกล่าวว่า รฟท.ต้องการให้มีความชัดเจนว่าหลักกฎหมายสามารถทำได้ ซึ่งกรณีได้รับคำตอบจากอัยการสูงสุด และกรมบัญชีกลางว่าสามารถดำเนินการได้ จะเร่งเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เพื่อขออนุมัติลงนามสัญญาจ้าง คาดว่าจะได้รับคำตอบและเสนอบอร์ด รฟท.ได้ในเดือน ส.ค.นี้ แต่หากทั้ง 2 หน่วยงานชี้ว่าไม่สามารถทำได้ รฟท.จะต้องกลับไปเปิดประกวดราคาสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ใหม่ ซึ่งจะทำให้งานล่าช้าออกไป 

สำหรับสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น ฝ่ายอนาบาล รฟท.เตรียมทำคำขอแถลงต่อศาลว่า รฟท.มีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการ เพื่อขอความกรุณาจากศาลให้พิจารณากรณีดังกล่าว 

ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 
3 สนามบิน โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ให้ รฟท.เจรจากับคู่สัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้เป็นผู้ก่อสร้างส่วนของโครงสร้างร่วม โดยออกแบบรองรับมาตรฐานรถไฟไทย-จีน ความเร็ว 250 กม./ชม. ล่าสุดการเจรจาได้ข้อตกลงเบื้องต้นว่าจะเริ่มก่อสร้างช่วงโครงสร้างร่วมได้ต้นปี 2566 

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) มีค่างานโยธา 1.17 แสนล้านบาท แบ่งก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 12% คาดว่าในปี 2565 งานโยธาจะคืบหน้าประมาณ 20% และจะแล้วเสร็จและเริ่มทดสอบเดินรถเสมือนจริงได้ในปี 69 เป็นเวลา 6 เดือน คาดว่าจะเปิดให้บริการประชาชนภายในปี 70




กำลังโหลดความคิดเห็น