xs
xsm
sm
md
lg

ราคาอาหารจานเดียวพุ่ง 6.7%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



LINE MAN Wongnai เปิดรายงานดัชนีราคาอาหารจานเดียวทั่วประเทศไทยระหว่างปี 2563-2565 เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับสถานการณ์เงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลราคาที่ขายจริงจากร้านอาหารกว่า 7 แสนร้านที่ขายดีลิเวอรีบนแพลตฟอร์ม LINE MAN ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย พบประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

• ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวทั่วไทยในรอบปีแพงขึ้น 3.66 บาท หรือ 6.7% (เทียบระหว่างพฤษภาคม 2564 และพฤษภาคม 2565) ใกล้เคียงกับตัวเลขเงินเฟ้อ 7.1% ของกระทรวงพาณิชย์

• ราคาอาหารในต่างจังหวัดยังต่ำกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่เฉลี่ยจานละ 7 บาท แต่ต่างจังหวัดมีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารเร็วกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

• อาหารเมนูหมูยังราคาใกล้เคียงเดิม แต่เมนูไก่ราคาแพงขึ้นชัดเจน ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา

• ข้าวผัดกะเพราราคาพุ่ง แพงขึ้นเฉลี่ย 3 บาท ภายใน 4 เดือนแรกของปี 2565 (ข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565) จากเฉลี่ยจานละ 56 บาท เพิ่มเป็นเฉลี่ยจานละ 59 บาท

ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวทั่วไทย ระหว่างปี 2563-2565

Key Finding : เงินเฟ้อและต้นทุนวัตถุดิบ ทำให้ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวทั่วไทยปี 2565 แพงขึ้น 3.66 บาท หรือ 6.7% (เทียบระหว่าง พ.ค. 64 กับ พ.ค. 65)


LINE MAN Wongnai รายงานความเปลี่ยนแปลงราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียว เช่น ก๋วยเตี๋ยว สุกี้ ข้าวผัดกะเพรา อาหารตามสั่ง ข้าวผัด ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวขาหมู ราดหน้า ฯลฯ ที่ขายในแต่ละเดือนระหว่างปี 2563-2565

พบว่าราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวในปี 2563 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2564 โดยตัวเลขของปี 2564 น้อยกว่าของปี 2563 อยู่เล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19

อย่างไรก็ตาม ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวของปี 2565 กลับเพิ่มขึ้นจากปี 2564 อย่างชัดเจน ราคาเฉลี่ยในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 55.33 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ที่ 53.33 บาท (แพงขึ้น 2 บาท) และถ้าดูตัวเลขในเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 57.87 บาท เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ 54.21 บาท เพิ่มขึ้น 3.66 บาท หรือประมาณ 6.7% ใกล้เคียงกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ที่ประเมินไว้ราว 7.1% เดือนพฤษภาคม 2565 (อ้างอิง)

ภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีราคาเฉลี่ยของอาหารจานเดียวแพงที่สุดอยู่ที่ 59.96 บาท ส่วนภาคตะวันตกมีราคาเฉลี่ยถูกที่สุดอยู่ที่ 49.92 บาท (มิถุนายน 2565) โดยภาคกลางเป็นภาคที่มีราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 3.97 บาท (เทียบระหว่างมกราคมกับมิถุนายน 2565)

ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวแยกตามภูมิภาค ในเดือนมิถุนายน 2565 (ราคาที่เพิ่มขึ้นจากมกราคม 2565)
• ภาคกลาง 59.63 บาท (+3.97 บาท)
• ภาคตะวันออก 59.96 บาท (+3.16 บาท)
• ภาคเหนือ 50.26 บาท (+2.94 บาท)
• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 56.04 บาท (+3.51 บาท)
• ภาคใต้ 57.46 บาท (+2.58 บาท)
• ภาคตะวันตก 49.92 บาท (+2.43 บาท)


เปรียบเทียบราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียว ระหว่างกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ

Key Finding: ราคาอาหารในต่างจังหวัดยังต่ำกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่เฉลี่ย 7 บาท แต่มีอัตราราคาอาหารเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

LINE MAN Wongnai รายงานราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียว เปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพฯ กับปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) กับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยที่ขายบนแพลตฟอร์ม LINE MAN เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าครองชีพของกรุงเทพฯ และปริมณฑล กับต่างจังหวัด

พบว่า
• ราคาอาหารจานเดียวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แพงกว่าต่างจังหวัดเฉลี่ยประมาณ 8 บาท (1 มกราคม 2564) แต่ส่วนต่างนี้ลดลงเหลือประมาณ 7 บาทแล้ว (1 พฤษภาคม 2565)

• ตลอดทั้งปี 2564 ราคาอาหารจานเดียวในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นในอัตรา 5.9% ซึ่งขึ้นเร็วกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เพิ่มขึ้น 2.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน

• ในปี 2565 ราคาอาหารเริ่มปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ราคาอาหารจานเดียวเฉลี่ยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นมาแล้ว 6.68% และต่างจังหวัดเพิ่ม 7.98% (เทียบ 1 มกราคม 2565 กับ 1 พฤษภาคม 2565)


ราคาเฉลี่ยเมนูอาหารแต่ละวัตถุดิบทั่วไทย ช่วงครึ่งแรกปี 2565 อาหารเมนูหมูยังราคาใกล้เคียงเดิม แต่เมนูไก่ราคาแพงขึ้นมากตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา

LINE MAN Wongnai รายงานการเปรียบเทียบราคาอาหารเฉลี่ย (นับรวมอาหารทุกประเภท ทุกระดับราคา) โดยแยกตามประเภทของเนื้อสัตว์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบของอาหาร พบว่าเมนูอาหารที่มีไก่เป็นส่วนประกอบมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากที่สุด สอดคล้องกับข่าวเนื้อไก่แพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี ราคาเฉลี่ยของอาหารที่ใช้ไก่เป็นส่วนประกอบเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 และพุ่งขึ้นสูงสุดในเดือนเมษายน 2565 ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับลดลงมาในเดือนพฤษภาคม แต่ก็ยังถือว่าสูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้า

ราคาเฉลี่ยอาหารเมนูไก่ ในช่วงครึ่งแรกปี 2565
วันที่ 1 มีนาคม ราคา 80.37 บาท
วันที่ 1 เมษายน ราคา 109 บาท
วันที่ 13 เมษายน ราคา 134 บาท (ปรับขึ้นมากเป็นพิเศษในช่วงหยุดสงกรานต์)
วันที่ 1 พฤษภาคม ราคา 113 บาท
วันที่ 1 มิถุนายน ราคา 93.9 บาท

ส่วนเมนูอาหารที่ใช้หมูเป็นส่วนประกอบ คงอยู่ที่ราว 64-69 บาทตลอดทั้งช่วงครึ่งแรกปี 2565 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาอาหารเฉลี่ย (รวมเนื้อสัตว์ทุกประเภท) ที่อยู่ราว 64-80 บาท
ราคาเฉลี่ยข้าวผัดกะเพราทั่วไทย ระหว่างปี 2563-2565 ข้าวผัดกะเพราราคาพุ่ง จากราคาเฉลี่ยจานละ 56 บาทช่วงต้นปี 2565 เป็นราคาเฉลี่ยจานละ 59 บาท เฉลี่ยแพงขึ้น 3 บาท

LINE MAN Wongnai ตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงราคาเฉลี่ยของ “ข้าวผัดกะเพรา” อาหารยอดนิยมของคนไทย (นับทั้งข้าวผัดกะเพรา ข้าวราดกะเพรา ใส่เนื้อสัตว์ทุกประเภท แต่ไม่รวมตัวเลือกเสริม เช่น ไข่ดาว ไข่เจียว ที่เลือกสั่งเพิ่มเป็น top-up แยกต่างหาก) ระหว่างปี 2563-2565
พบว่า ราคาเฉลี่ยของข้าวผัดกะเพราในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาช่วงต้นปี 2564 อยู่ที่จานละ 52.78 บาท และค่อยๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ จนอยู่ที่ 54.73 บาทในช่วงปลายปี (เพิ่มขึ้นประมาณ 2 บาท)
แต่ในปี 2565 สถานการณ์ราคาปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยช่วงต้นปีราคาเฉลี่ยของข้าวผัดกะเพราหนึ่งจานคือ 55.9 บาท และเพิ่มมาเป็น 59 บาทในเดือนพฤษภาคม (แพงขึ้น 3 บาทภายใน 4 เดือน)
ภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีราคาเฉลี่ยของข้าวผัดกะเพราแพงที่สุดอยู่ที่ 62.24 บาท ส่วนภาคตะวันตกมีราคาเฉลี่ยถูกที่สุดอยู่ที่ 50.08 บาท

ราคาเฉลี่ยข้าวผัดกะเพราแยกตามภูมิภาค
1. ภาคกลาง 60.63 บาท
2. ภาคตะวันออก 62.24 บาท
3. ภาคเหนือ 50.57 บาท
4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 57.30 บาท
5. ภาคใต้ 56.79 บาท
6. ภาคตะวันตก 50.08 บาท






กำลังโหลดความคิดเห็น