กรมทางหลวงรับฟังความเห็นชาวสุรินทร์ ศึกษาออกแบบปรับปรุงทางแยกสีจอมพระ รองรับปริมาณจราจรเพิ่ม พร้อมศึกษา EIA ลดผลกระทบ "โบราณสถานบ้านดงบัง"
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ณ ศาลาประชาคมที่ว่าการอำเภอจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ทล.ได้จัดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1) โครงการปรับปรุงทางแยกระดับพื้นจุดตัดทางหลวงหมายเลข 214 กับทางหลวงหมายเลข 2378 (แยกสีจอมพระ) เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ วัตถุประสงค์ ขอบเขตการศึกษา และแนวคิดการพัฒนาโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมี นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
สำหรับทางหลวงหมายเลข 2378 สาย อำเภอจอมพระ-บ้านไทรงาม เป็นโครงข่ายทางหลวงที่เชื่อมโยงระหว่างทางหลวงสายหลักในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 214 และทางหลวงหมายเลข 219 โดยเป็นเส้นทางเชื่อมเข้าสู่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่สำคัญของภูมิภาค
ปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการขยายช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 2378 ให้เป็นขนาด 4 ช่องจราจร ตั้งแต่ช่วง กม.ที่ 1+100 ถึง กม.ที่ 43+425 ซึ่งรวมการปรับปรุงทางแยกตลอดแนวเส้นทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งอำนวยความสะดวกปลอดภัย ทำให้การเดินทางเกิดความคล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
สำหรับทางแยกสีจอมพระ บริเวณ กม.0+000 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสายทางของทางหลวงหมายเลข 2378 พบโบราณสถานบ้านดงบัง ซึ่งอยู่ในระยะ 1 กิโลเมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบก่อนการขออนุมัติหรืออนุญาตพัฒนาโครงการ
ด้วยเหตุนี้ กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อให้การออกแบบปรับปรุงทางแยกของโครงการสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ สภาพสิ่งแวดล้อม สภาพเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยสูงสุดในการใช้เส้นทาง โดยมีระยะเวลาการศึกษาทั้งหมด 360 วัน
สำหรับสภาพพื้นที่ศึกษาของโครงการ อยู่ที่บริเวณทางแยกสีจอมพระ บริเวณ กม.0+000 เป็นจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 214 กับทางหลวงหมายเลข 2378 โดยขอบเขตพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนครอบคลุมพื้นที่ในระยะ 500 เมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ อยู่ในพื้นที่ตำบลจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
ส่วนแนวคิดเบื้องต้นในการปรับปรุงทางแยกโครงการได้มีการพิจารณารูปแบบทางแยกแบบแบ่งช่องทางทั้ง 2 ทิศทาง และมีการจัดสัญญาณไฟจราจรควบคุมบริเวณทางแยก โดยบนทางหลวงหมายเลข 2378 จะมีการปรับปรุงขยายช่องจราจรบนทางหลักจากเดิมมีขนาด 2 ช่องจราจร ให้เป็น 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ในช่วง กม.0+000 ถึง กม.1+000 เพื่อให้ขนาดช่องจราจรกว้าง 4 ช่องต่อเนื่องตลอดแนวเส้นทาง และบริเวณทางแยกจะมีการจัดช่องทางเลี้ยวเพิ่มข้างละ 1 ช่องจราจร รวมเป็น 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถที่ต้องการเลี้ยวได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ส่วนบนทางหลวงหมายเลข 214 จะมีการจัดการช่องจราจรบริเวณทางแยก ให้เป็นถนนขนาด 8 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีทางเท้าทั้ง 2 ทิศทาง และจะมีช่องรอเลี้ยวจากทิศทางจังหวัดร้อยเอ็ดไปจังหวัดบุรีรัมย์ และทิศทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ไปจังหวัดสุรินทร์
นอกจากนี้ จัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ตั้งแต่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด
โดยกรมทางหลวงจะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและออกแบบรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง