กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่น ส.อ.ท.ออกโรงโต้ “กรณ์” ที่ระบุว่าค่าการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า เป็นการหยิบยกข้อมูลบางส่วนซึ่งไม่ใช่ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับ (Market GRM) และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย โดยเลือกใช้ข้อมูลปีที่เกิดโควิด-19 ที่มีค่าการกลั่นต่ำกว่าปกติ ยันหากเปรียบเทียบค่าการกลั่นในปีก่อนเกิดโควิด (2561-62) พบว่าค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับเพิ่มขึ้นเพียง 0.47 บาท/ลิตร ไม่ได้สูงถึง 10 เท่า และสูงถึง 8 บาทต่อลิตร
กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) (กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ) ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตามที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้นำเสนอประเด็น “คนไทยโดนปล้น ค่ากลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า” ที่ระบุประเด็นหลักคือ ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น 10 เท่า จาก 0.87-0.88 บาท/ลิตร ในเดือนมิถุนายน 2563 และปี 2564 เพิ่มเป็น 8.56 บาท/ลิตร ในเดือนมิถุนายน 2565 พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน 3 แนวทาง คือ 1. กำหนดเพดานการกลั่น 2. เก็บภาษีลาภลอย (windfall tax) 3. จริงจังกับมาตรการประหยัดการใช้พลังงานนั้น กลุ่มโรงกลั่นฯ เห็นว่าข้อมูลที่นำเสนอเป็นการเลือกข้อมูลบางส่วนขึ้นมาเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด โดยค่าการกลั่นที่ถูกหยิบยกมานั้นไม่ใช่ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับ (Market GRM) และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ
นอกจากนี้ ข้อมูลที่เลือกมาเป็นฐานในการเปรียบเทียบ เป็นข้อมูลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (2563-2564) ซึ่งค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากๆ เมื่อนำมาเปรียบเทียบจะทำให้เข้าใจผิดว่าค่าการกลั่นในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติ หากนำข้อมูลค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับจริง ในช่วงสถานการณ์ก่อนโควิด-19 ในปี 2561-2562 มาเปรียบเทียบ พบว่าค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 สูงขึ้นเพียงประมาณ 0.47 บาทต่อลิตร จากช่วงสถานการณ์ปกติเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สูงถึง 10 เท่า และสูงถึง 8 บาทต่อลิตรอย่างที่กล่าวอ้าง
นอกจากนี้ ต้นทุนการกลั่นไม่ได้คงที่ แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ (ราคาส่วนเพิ่มของน้ำมันดิบที่กลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง) ค่าขนส่งน้ำมัน ค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เป็นต้น รวมถึงค่าแรงที่มีการปรับขึ้นอย่างเป็นประจำ และการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงชนิดและมาตรฐานคุณภาพของน้ำมัน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการปฏิบัติการในโรงกลั่น ความปลอดภัย เป็นต้น
อีกทั้งโรงกลั่นไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจากค่าการกลั่นเป็นผลลัพธ์จากราคาเฉลี่ยของน้ำมันที่ขายจริงทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิต หักด้วยราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง ซึ่งรวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เช่น ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย รวมถึงต้องหักค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เช่น ค่าความร้อน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสูญเสีย เป็นต้น โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงตาม ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงสต๊อกน้ำมัน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมีประชาชนส่วนมากยังมีความเข้าใจผิดเรื่อง “ค่าการกลั่นน้ำมันที่สูงขึ้น” ดังนั้นขอยืนยันว่ากลุ่มโรงกลั่นฯ ไม่ได้เป็นผู้กำหนดค่าการกลั่นน้ำมัน ค่าการกลั่นน้ำมันขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากสถานการณ์ของโลกขณะนั้น
อีกทั้งค่าการกลั่นน้ำมันไม่ใช่กำไรของโรงกลั่น เนื่องจากโรงกลั่นมีค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ หลายรายการที่ต้องหักออกก่อน ส่วนที่เหลือจากนั้นจึงเป็นกำไรก่อนหักภาษีของโรงกลั่น