รฟท.โล่ง "อัยการกฤษฎีกา" เคลียร์ปมลำรางสาธารณะ "ที่ดินมักกะสัน" เดินหน้าไฮสปีด 3 สนามบิน คาดเสนอ กพอ.และ ครม.แก้สัญญาร่วมลงทุนฯ ส.ค.-ก.ย.นี้ เร่งออก NTP ม.ค. 66 เริ่มตอกเข็มโครงสร้างร่วม "บางซื่อ-ดอนเมือง"
รายงานข่าวเปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ รฟท. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการฯ ว่า หลังจากมีประเด็นการส่งมอบพื้นที่บริเวณมักกะสันประมาณ 150 ไร่ ที่มีลำรางสาธารณะปรากฏอยู่และทางเอกชนยังไม่ยอมรับเงื่อนไขการส่งมอบ ซึ่ง รฟท.ได้ทำหนังสือหารือกฤษฎีกาและอัยการสูงสุดเพื่อขอให้วินิจฉัย กรณีพื้นที่บึงมักกะสันว่าเป็นเงื่อนไขในการส่งมอบพื้นที่หรือไม่ ซึ่งล่าสุดอัยการสูงสุดได้มีหนังสือตอบกลับมายัง รฟท.แล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เงื่อนไขในการส่งมอบพื้นที่
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการ 3 ฝ่ายได้มีการประชุมในประเด็นพื้นที่มักกะสัน และข้อตกลงต่างๆ ซึ่งการเจรจาถือว่าใกล้ได้ข้อยุติแล้ว หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนที่ทั้งสองฝ่ายจะมีการยืนยันรายละเอียดกันเป็นลายลักษณ์อักษร โดยภายในสัปดาห์นี้ รฟท.จะมีหนังสือไปถึง บริษัท เอเชีย เอรา วัน และคาดว่า ทางเอเชีย เอรา วันตอบกลับเป็นทางการภายใน 1 สัปดาห์นับจากได้รับหนังสือจาก รฟท.
และหลังจาก เอเชีย เอรา วัน มีหนังสือตอบกลับมาเป็นทางการ รฟท.จะสรุปรายละเอียด นำเสนอคณะกรรมการ (รฟท.) เห็นชอบการแก้ไขร่างสัญญาร่วมทุนฯ ซึ่งคาดว่าจะเสนอในการประชุมบอร์ด รฟท.เดือน ก.ค. 2565 ส่วนการประชุมบอร์ด รฟท.เดือน มิ.ย.นี้ จะเป็นการรายงานความคืบหน้าให้บอร์ดรับทราบก่อน หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ ตามที่ได้มีการขยายบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 มีกรอบเวลา 3 เดือนนับจากวันที่ 24 ต.ค. 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการขยายออกไป 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน โดยล่าสุดจะครบกำหนดวันที่ 24 ก.ค. 2565 นั้น
ในส่วนการเจรจาของคณะทำงาน 3 ฝ่าย จะสามารถสรุปได้ภายในเวลา 24 ก.ค. 2565 แต่เนื่องจากมีที่นำเสนอ กพอ.และ ครม.พิจารณา ดังนั้น คาดว่าอาจต้องมีการขยาย MOU ออกจากวันที่ อีกระยะหนึ่งเพื่อให้ครอบคลุมกระบวนการพิจารณาทั้งหมด
@ขึงไทม์ไลน์ออก NTP อย่างช้า ม.ค. 66 สั่งเร่งตอกเข็มโครงสร้างร่วม "ไทย-จีน" ก่อน
คาดว่า ครม.จะอนุมัติร่างการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. 2565 จากนั้นจะมีการลงนามแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ซึ่งในระหว่างนี้จะเร่งดำเนินการเรื่องการรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งเอกชนได้ยื่นเรื่องไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยการได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้กำหนดอยู่ในเงื่อนไขก่อนที่จะเริ่มงาน
ซึ่งแผนล่าสุดได้วางไทม์ไลน์การออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ภายในเดือน ม.ค. 2566 เนื่องจากต้องเผื่อเวลาไว้ดำเนินการรับส่งเสริมการลงทุนให้เรียบร้อยก่อนด้วย
พร้อมกันนี้ รฟท.ได้ขอให้เอกชนเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างร่วมในพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองเป็นลำดับแรก
สำหรับการเจรจาที่ได้ข้อยุติไปก่อนหน้านี้แล้ว ได้แก่เอกชนยอมรับในการก่อสร้างโครงสร้างร่วมฯ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และรับผิดชอบค่าก่อสร้างเพิ่มจำนวน 9,207 ล้านบาท โดยรฟท.ปรับเงื่อนไขการชำระคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้น โดยเริ่มชำระคืนเป็นเดือนที่ 21 ซึ่งล่าสุดปรับเวลาการออก NTP เป็นเดือน ม.ค. 2566 เท่ากับ รฟท.จะเริ่มชำระคืนค่าก่อสร้างในเดือน ต.ค. 2567
ส่วนกรณีการชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671.090 ล้านบาท ซึ่งได้มีการเจรจาแก้ปัญหาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารลดลง โดยมีข้อยุติว่าจะแบ่งชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน จำนวน 10,671.090 ล้านบาท เป็น 7 ปี โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย โดยหากโควิด-19 ยุติก่อนระยะเวลา 7 ปี โดยยึดประกาศจากรัฐบาล จะประเมินจำนวนผู้โดยสารในช่วง 1 ปีหลังจากนั้นแล้วจึงพิจารณาการชำระเงินที่เหลือในคราวเดียว
ซึ่งในวันลงนาม MOU เอกชนนำเช็กเงินสดจำนวน 1,067.11 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของค่าสิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้แก่ รฟท.เพื่อเป็นหลักประกัน ซึ่ง MOU มีเงื่อนไขให้เอกชนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงบุคลากรปฏิบัติงานทั้งหมด รับผิดชอบความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน เพื่อทำให้การเดินรถไฟและซ่อมบำรุงรักษาระบบแอร์พอร์ตเรลลิงก์เป็นไปตามมาตรฐาน KPI
รายงานข่าวแจ้งว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. 2564 ที่มีการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ รฟท.ยังรับภาระในการบริหารการเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์อยู่ ซึ่งพบว่ามีผลขาดทุนเดือนละหลายสิบล้านบาท ซึ่งตามเงื่อนไข MOU จะหักจากหลักประกันที่เอกชนจ่ายไว้ โดยเมื่อลงนามแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ แล้ว เอกชนจะต้องเริ่มชำระค่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์งวดแรก จำนวน 1,067.11 ล้านบาท ดังนั้น หากวงเงินที่วางไว้ตอน MOU มีเหลือไม่ครบทางเอกชนต้องจัดหาเพิ่มเติม