GPSC ปลื้ม ผู้ลงทุนสถาบัน-ผู้ลงทุนรายใหญ่ให้การตอบรับ “หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” หรือ “กรีนบอนด์” วงเงิน 12,000 ล้านบาท อายุหุ้นกู้ระหว่าง 3-15 ปี มีนักลงทุนแห่จองถึง 2.3 เท่า ชี้ระดมทุนเพื่อต่อยอดและพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน ตอบโจทย์เทรนด์พลังงานแห่งอนาคต
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า GPSC ได้ทำการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 ของบริษัทฯ ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ วงเงินรวมทั้งสิ้น 12,000 ล้านบาท อายุหุ้นกู้ 3-15 ปี อัตราดอกเบี้ยระหว่าง 2.55%-4.40% ต่อปี โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ "AA+" แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด วัตถุประสงค์การใช้เงินของหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชุดนี้จะนำไปใช้ในการลงทุนโครงการพลังงานทดแทน และทดแทนเงินกู้เดิมในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ และบริษัทในกลุ่ม GPSC โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดีเยี่ยม โดยมีความต้องการจองซื้อจากนักลงทุนสูงถึง 2.3 เท่า
“การออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ในครั้งนี้มีผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากเกินกว่ามูลค่าการเสนอขายหุ้นกู้เบื้องต้นที่ 10,000 ล้านบาท บริษัทฯ จึงตัดสินใจเพิ่มมูลค่าการเสนอขาย (Greenshoe option) อีก 2,000 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าการเสนอขายทั้งสิ้น 12,000 ล้านบาท โดยครั้งนี้เป็นการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 หลังจากที่มีการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ต่อการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ในฐานะบริษัทผลิตไฟฟ้าชั้นนำด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในระดับสากล” นายวรวัฒน์กล่าว
สำหรับการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับการรับรอง (Certification) ด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy) จาก CBI ซึ่งเป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาพลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายการระดมทุนเพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่เป็นเทรนด์ของพลังงานที่ยั่งยืน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิการใช้พลังงานของประเทศและในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจในอนาคต