xs
xsm
sm
md
lg

“วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม” โชว์แผนดันราคาผลไม้ มั่นใจปีนี้เอาอยู่-เกษตรกรยิ้มได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 2565 ประเมินกันว่าผลผลิตผลไม้ทั้งประเทศจะมีปริมาณมากถึง 5.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2564 และปีนี้ยังเป็นปีที่หลายๆ ฝ่ายมีความกังวลว่าช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก หรือช่วงพีก จะมีปัญหาราคาตกต่ำ และเกษตรกรได้รับผลกระทบ แต่ปรากฏว่าแทบจะไม่มีปัญหาราคาตกต่ำ มีเสียงบ่น หรือเสียงเรียกร้องจากเกษตรกร เพื่อขอให้เข้าไปช่วยเหลือเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ใครอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการกำหนดมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 เชิงรุกไว้จำนวน 17 มาตรการ ต่อมาต้นปี 2565 ได้เพิ่มเป็น 17+1 มาตรการ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ

โดยในส่วนของตลาดภายในประเทศเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการ โดยตลาดในประเทศมีสัดส่วนประมาณ 30% ที่เหลือเป็นตลาดส่งออกประมาณ 70%


แก้ปัญหามะม่วงตัวแรก

ปีนี้ผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาดเป็นชนิดแรก มีปริมาณมากถึง 1.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5% เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 ซึ่งช่วงนั้นมีปัญหาราคาตกต่ำบ้าง แต่กรมการค้าภายในได้เข้าไปช่วยเหลือทันที โดยเข้าไปรับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงอย่างต่อเนื่องในราคานำตลาดเป็นการล่วงหน้า ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2565 และในช่วงปลายเดือน พ.ค. ถึงต้นเดือน มิ.ย. 2565

ไม่เพียงแค่นั้น ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร สถานีบริการน้ำมัน รับซื้อผลผลิตตกเกรดจากเกษตรกรเพื่อนำไปแปรรูป นำไปเป็นของสมนาคุณให้แก่ผู้ใช้บริการในปั๊มน้ำมัน และได้ร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในแหล่งผลิต ดำเนินมาตรการกระจายออกผลผลิต โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการกิโลกรัม (กก.) ละ 3 บาท รวมทั้งเปิดจุดจำหน่ายผ่านรถโมบายล์ เปิดจุดในการเคหะ ห้างท้องถิ่น และนิคมอุตสาหกรรม อย่างต่อเนื่องตลอดฤดูการผลิต ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้จะช่วยรักษาเสถียรภาพราคามะม่วงให้อยู่ในเกณฑ์ดีได้ตลอดฤดูการผลิต

“จากมาตรการข้างต้น ทำให้สถานการณ์มะม่วงฟ้าลั่น มะม่วงน้ำดอกไม้ดีขึ้น ราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และยิ่งมาได้ช่วงข้าวเหนียวมะม่วงจากมิลลิฟีเวอร์ ก็ยิ่งทำให้ราคาปรับตัวดีขึ้น และมะม่วงก็เป็นผลไม้ตัวแรกที่ออกสู่ตลาดและไม่มีปัญหาด้านราคา” นายวัฒนศักย์กล่าว

จับมือปั๊มพีทีทำมะม่วงอบแห้งแจก

นายวัฒนศักย์กล่าวว่า ล่าสุดกรมฯ ได้ผนึกกำลังกับปั๊มน้ำมันพีที โดยร้านกาแฟ “พันธุ์ไทย” ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงแฟนซีภาคเหนือ (จินหงส์ แดงจักรพรรดิ งาช้างแดง) โดยการเร่งเข้าไปรับซื้อและกระจายผลผลิตจากจังหวัดลำพูน รวม 10 ตัน เพื่อนำมาทำเป็นเมนู “มะม่วงอบแห้ง” จำหน่ายในร้านกาแฟพันธุ์ไทย และอีกส่วนหนึ่งมอบเป็นของสมนาคุณให้แก่พี่น้องประชาชนที่ซื้อของภายในร้านกาแฟพันธุ์ไทย เงื่อนไข ซื้อครบ 100 บาท รับฟรี มะม่วงแฟนซี 1 ถุง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มแจกแล้ว จะแจกไปจนกว่าของจะหมด ในร้านกาแฟพันธุ์ไทยพื้นที่ กทม.และปริมณฑล กว่า 100 สาขา เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้มีช่องทางการกระจายผลผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น

“การเข้าไปรับซื้อมะม่วงแฟนซีในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเหลือเกษตรกรมีช่องทางระบายผลผลิตแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนผู้บริโภคที่มาซื้อสินค้าในร้านกาแฟพันธุ์ไทยได้ประโยชน์จากการเข้าถึงสินค้าเกษตรที่ดีมีคุณภาพ และถือว่าได้ร่วมช่วยเหลือเกษตรกรได้อีกด้วย” นายวัฒนศักย์กล่าว

จัด “พาณิชย์ Fruit Festival 2022”

นายวัฒนศักย์กล่าวว่า เพื่อเป็นการระบายผลผลิตผลไม้ในประเทศอย่างต่อเนื่อง กรมฯ ได้จัดกิจกรรม “พาณิชย์ Fruit Festival 2022” โดยเริ่มจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคผลไม้ ช่วงต้นเดือน พ.ค. 2565 และเตรียมจุดจำหน่ายผลไม้ไว้ทั้งหมด 1,092 จุด ประกอบด้วยห้างโมเดิร์นเทรด ร้านค้าปลีกค้าส่ง ร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น โดยเป็นที่กรุงเทพฯ และรถเร่ 500 จุด ที่เหลือเป็นต่างจังหวัด ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคผลไม้ได้เพิ่มมากขึ้น


เร่งกระจายมังคุด-สับปะรด

นายวัฒนศักย์กล่าวว่า ต่อมากรมฯ ได้ร่วมมือกับปั๊มน้ำมันพีที โออาร์ และบางจาก ซึ่งเป็นโครงการภายใต้กิจกรรม “พาณิชย์ Fruit Festival 2022” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดภาคตะวันออก โดยการเร่งเข้าไปรับซื้อและกระจายผลผลิตมังคุดจากจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด และสับปะรดภาคเหนือจากจังหวัดเชียงราย ลำปาง อุตรดิตถ์ รวม 525 ตัน เพื่อนำมามอบเป็นของสมนาคุณให้แก่พี่น้องประชาชน เป็นจำนวน 500,000 ถุง โดยแจกไปเมื่อวันที่ 2-6 มิ.ย. 2565 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร) และภาคเหนือ รวม 21 จังหวัด กว่า 900 สาขา เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้มีช่องทางการกระจายผลผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการมาตรการเชิงรุก โดยเข้าไปรับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดอย่างต่อเนื่องในราคานำตลาดเป็นการล่วงหน้าตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. และในช่วงปลายเดือนพ.ค.ถึงต้นเดือน มิ.ย. 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตมังคุดออกปริมาณมาก ส่งผลให้ราคามังคุดปรับตัวดีขึ้น ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี โดย 1. เกรดมันรวม ราคาปัจจุบัน 55-65 บาท 2. เกรดคละ ราคาปัจจุบัน 35-40 บาท 3. เกรดตกไซส์ ราคาปัจจุบัน 21 บาท

ส่วนราคาสับปะรด มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 1. พันธุ์ภูแลเกรดคละ ราคาปัจจุบัน 3.5-5 บาท 2. พันธุ์ปัตตาเวียเกรดมาตรฐาน ราคาปัจจุบัน 5.8-6 บาท


ทุเรียนใช้วิธีแกะเนื้อแช่แข็ง

สำหรับทุเรียน นายวัฒนศักย์กล่าวว่า ปีนี้มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก มีปริมาณมากถึง 1.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19% โดยในช่วงผลผลิตออกมาก ได้ใช้วิธีประสานให้ผู้ผลิตเข้าไปรับซื้อทุเรียนสด เป้าหมาย 2 แสนตัน แล้วนำมาแกะเปลือก เหลือแต่เนื้อ แล้วเอาไปฟรีซจนแข็ง ได้เนื้อล้วนๆ ประมาณ 5 หมื่นตัน ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และมีปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ช่วงแรกๆ ลงได้ โดยผลผลิตดังกล่าวสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 5-6 เดือน พอหมดช่วงฤดูทุเรียนก็นำออกมาจำหน่ายได้

เปิดมาตรการอื่นๆ ที่นำมาใช้

ส่วนมาตรการดูแลราคาผลไม้อื่นๆ ที่กรมการค้าภายในได้นำมาใช้ มีอีกหลายมาตรการ ทั้งการนำผลไม้ไปเปิดจุดจำหน่ายที่นิคมอุตสาหกรรม และเปิดให้บริษัทในนิคมอุตสาหกรรมที่พนักงานต้องการบริโภคผลไม้ สามารถพรีออเดอร์ผลไม้ได้ล่วงหน้า เมื่อผลไม้ออก ก็จัดส่งไปให้ทันที แล้วยังมีการประสานร้านสะดวกซื้อ เป็นจุดจำหน่าย มีรถเร่ นำผลไม้จากตลาดกลาง ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ไปจำหน่าย มีทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด ซึ่งก็ช่วยดูดซับผลผลิตออกจากตลาดไปได้มาก

ขณะเดียวกัน ได้ช่วยเหลือสนับสนุนกล่องใส่ผลไม้ให้แก่เกษตรกรจำนวน 3 แสนกล่อง เพื่อให้เกษตรกรมีกล่องไว้ใส่ผลไม้เพื่อจำหน่าย โดยเฉพาะการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และยังได้นำ “อมก๋อย โมเดล” ซึ่งเดิมใช้กับพืชผลทางการเกษตร เช่น หอมหัวใหญ่ หอมแดง และกระเทียม มาใช้กับผลไม้ ซึ่งได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าสำหรับผลผลิตลำไย ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้ไว้แล้ว

นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปช่วยบริหารจัดการเรื่องแรงงานเก็บผลไม้ โดยมีการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ตราด เตรียมมาตรการรับมือ คัดกรองแรงงาน ทำให้มีแรงงานเข้ามาเก็บผลไม้ และไม่มีปัญหาเหมือนกับปีที่ผ่านมา

เป้าต่อไปเตรียมรับมือผลไม้ภาคใต้

นายวัฒนศักย์กล่าวว่า ขณะนี้ผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออกเริ่มที่จะเข้าสู่ช่วงปลายฤดูการผลิตแล้ว ต่อไปจะเป็นคิวของผลไม้ภาคใต้ และภาคเหนือ ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว โดยขณะนี้ได้ประสานล้ง ประสานผู้รับซื้อผลไม้ และผู้ส่งออก เข้าไปเปิดจุดรับซื้อ โดยการส่งออกจะช่วยค่าบริหารจัดการกิโลกรัมละ 4 บาท เป้าหมาย 1 แสนตัน แต่รัฐช่วยครึ่งหนึ่ง คือ 5 หมื่นตัน และยังจะมีมาตรการเสริมอื่นๆ เหมือนกับผลไม้ภาคตะวันออก ทั้งการช่วยระบายผลผลิตออกจากแหล่งผลิต การนำไปจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ

โชว์ผลสำเร็จราคาปรับตัวดีขึ้นทุกตัว

ผลจากมาตรการเข้าไปช่วยเหลือและช่วยระบายผลผลิตในช่วงผลไม้ออกสู่ตลาด ได้ทำให้ราคาผลไม้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจริง โดยมะม่วงน้ำดอกไม้ เกรดส่งออก ราคา กก.ละ 30-60 บาท ปีที่แล้ว 20-25 บาท เกรดคละ กก.ละ 15-25 บาท ปีที่แล้ว 12-15 บาท สับปะรดภูแลปีนี้ กก.ละ 3-5 บาท ปีที่แล้ว 3.5-4 บาท ลิ้นจี่ เกรดส่งออก ปีนี้ กก.ละ 45-70 บาท เกรดบี กก.ละ 35-60 บาท ทุเรียนหมอนทอง ราคาปีนี้ กก.ละ 110-130 บาท สูงสุด กก.ละ 150 บาท ปีที่แล้วเฉลี่ย กก.ละ 117 บาท

“มาตรการที่กรมฯ ได้เตรียมไว้ ทั้งเชิงรุก เชิงรับ ทั้งการเข้าไปช่วยซื้อ ช่วยระบายผลผลิตออกสู่ตลาด การประสานพันธมิตรเข้ามาช่วยรับซื้อ สามารถช่วยระบายผลผลิตได้จริง และทำให้ราคาผลไม้ในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น และมั่นใจว่าปีนี้ราคาผลไม้จะอยู่ในเกณฑ์ดีไปตลาดทั้งฤดูกาล และทำให้เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ มีรายได้เพิ่มขึ้น” นายวัฒนศักย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น