ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.65 ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 9 เดือน หลังคนกังวลน้ำมันแพง ค่าครองชีพพุ่ง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำน้ำมันโลกสูงขึ้น เพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและไทย จับตาหากยืดเยื้อ จีดีพีปีนี้มีโอกาสโตต่ำกว่า 2.5-3% ได้
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนพ.ค.2565 ปรับตัวลดลงจากระดับ 40.7 เป็น 40.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.ย.2564 เป็นต้นมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนจากระดับ 25.4 มาอยู่ที่ 25.7 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 48.0 มาอยู่ที่ระดับ 46.9
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ยังคงปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยอยู่ที่ระดับ 34.3 37.8 และ 48.5 เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเม.ย.2565 ที่อยู่ในระดับ 34.6 38.0 และ 49.6
ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากที่รัฐบาลยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะคลี่คลายลงเป็นลำดับ และรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจธุรกิจและการเปิดประเทศมากขึ้น ได้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งแสดงว่าผู้บริโภคยังมีความกังวล ส่วนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีมากขึ้น
“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เพราะผู้บริโภคเริ่มมีความวิตกกังวลมากเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ น้ำมันแพง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้มีความเชื่อมั่นลดน้อยลง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงไรและยาวนานเพียงใด โดยอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2.5-3.0% ในปีนี้ได้”นายธนวรรธน์กล่าว