xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” หารือทูตเนเธอร์แลนด์ ร่วมพัฒนาท่าเรือและระบบโลจิสติกส์ของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



”ทูตเนเธอร์แลนด์” พบ “ศักดิ์สยาม” หารือความร่วมมือพัฒนาส่งเสริมด้านการบริหารจัดการท่าเรือและโลจิสติกส์ ผลักดันระบบการขนส่งทางน้ำของไทยให้เทียบท่าเรือชั้นนำของโลก และการพัฒนาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

วันที่ 8 มิ.ย. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ Mr. Remco Johannes van Wijngaarden เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยเข้าพบเพื่อหารือความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างกัน โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และผู้แทนจากกรมเจ้าท่า (จท.) เข้าร่วมหารือ
 
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือในประเด็นด้านความร่วมมือระหว่างไทย-เนเธอร์แลนด์ ได้แก่ ความร่วมมือด้านการพัฒนาท่าเรือระหว่างท่าเรือรอตเตอร์ดัม เพื่อส่งเสริมกันด้านการบริหารจัดการท่าเรือและโลจิสติกส์ การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าเรือ และส่งเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาด้านบุคลากร การแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศด้านการบริหารจัดการท่าเรือ ตลอดจนช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศและเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำของไทยให้ทัดเทียมท่าเรือชั้นนำของโลก โอกาสในการแสวงหาความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงระบบขนส่งให้ทันยุคดิจิทัลและขนส่งที่ยั่งยืน รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนานโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีภารกิจหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและให้บริการคมนาคมขนส่ง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ โดยกระทรวงฯ ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ระยะ 20 ปี ตามนโยบายของรัฐบาล
 
เช่น แผนพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูง แผนพัฒนารถไฟฟ้าทางคู่ การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล การพัฒนาท่าเรือ การบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง แผนแม่บท MR-MAP การพัฒนาโครงการ Landbridge รวมถึงการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ทดแทนน้ำมันในรถยนต์โดยสารสาธารณะ รถไฟ และเรือ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และได้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกและสิ่งแวดล้อม






กำลังโหลดความคิดเห็น