นายกฯ เปิดท่าเรืออัจฉริยะ "ท่าช้าง-ท่าสาทร" SMART PIER SMART CONNECTION กรมเจ้าท่าปรับปรุงยกระดับพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเชื่อมต่อ "ล้อ ราง เรือ" รองรับการเดินทางและท่องเที่ยว เผยปี 65 จะเสร็จอีก 6 ท่า ครบ 29 ท่าในปี 67
วันนี้ (8 มิ.ย.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดท่าเรือท่าช้าง-สาทร “SMART PIER SMART CONNECTION” โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม หน่วยงานราชการ ประชาชนในพื้นที่ร่วม ซึ่งท่าเรือสาทร และท่าเรือท่าช้าง ที่ปรับปรุงพัฒนาเป็น Smart Pier สามารถรองรับผู้โดยสารและการกลับมาของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจากการเปิดประเทศและเปิดภาคการศึกษาในช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาอย่างมีประสิทธิภาพ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2561-2564 กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบก น้ำ ราง อากาศ ให้มีความเชื่อมโยง สะดวก ปลอดภัย สร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ โดยกรมเจ้าท่า (จท.) มีภารกิจในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำให้เกิดความปลอดภัย สะดวก สบาย เชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่น โดยได้กำหนดแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2562-2567 ให้เป็นสถานีเรือจำนวน 29 ท่าเรือ ให้มีรูปลักษณ์ที่สวยงามเกิดเป็นจุดหมายตา (Landmark) ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ มีระบบการให้บริการที่ทันสมัย ปรับเปลี่ยนเรือโดยสารเป็นเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล อีกทั้งมีส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศอีกด้วย
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่าได้ดำเนินภารกิจหน้าที่ในการกำกับ ดูแลรักษาความปลอดภัยทางน้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ให้พร้อมบริการ และมีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกระดับความสามารถให้ทัดเทียมนานาประเทศในเรื่องของการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อ ตามแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา จะพัฒนายกระดับท่าเรือให้เป็นสถานีเรือทั้งในส่วนของท่าเรือ ตัวเรือ ตลอดจนพัฒนาระบบการให้บริการรองรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นทั้ง ล้อ ราง เรือ เพื่อสร้างทางเลือกในการเดินทางของประชาชน สำหรับเส้นทางจากท่าเรือสาทร กรุงเทพมหานคร ไปยังปลายทางที่ท่าเรือปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ตามแผนพัฒนาจำนวน 29 ท่าเรือ วงเงินรวม 310.5 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2562-2563 ก่อสร้างเสร็จแล้วจำนวน 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือสะพานพุทธ และท่าเรือนนทบุรี ปัจจุบันเสร็จเพิ่มอีก 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือท่าช้าง วงเงิน 60 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2564 และท่าเรือสาทร วงเงิน 10.5 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2565 และกำลังก่อสร้างคาดแล้วเสร็จภายในปี 2565 จำนวน 6 ท่าเรือ ขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2566 จำนวน 8 ท่าเรือ มีแผนของบประมาณปี 2567 จำนวน 10 ท่าเรือ และมีแผนติดตั้งระบบให้บริการบนท่าเรือทั้งหมด 29 ท่าเรือ ในปี 2566-2567 ในส่วนของตัวเรือนั้น กรมเจ้าท่าร่วมกับผู้ประกอบการเรือโดยสารปรับเปลี่ยนรูปแบบเรือเป็นแบบพลังงานไฟฟ้าสำหรับให้บริการ เป็นการช่วยลดมลพิษทางน้ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับการปรับปรุงท่าเรือท่าช้าง มีขนาดพื้นที่ 1,800 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่การปรับปรุงออกเป็น 1. อาคารศาลาพักคอยขนาดพื้นที่ 320 ตารางเมตร จำนวน 2 หลัง 2. โป๊ะเทียบเรือ ขนาด 5 x 10 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 2 โป๊ะ 3. โป๊ะเทียบเรือขนาด 6 x 12 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 4 โป๊ะ ภายหลังการเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ท่าเรือท่าช้างสามารถรองรับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่เดินทางสัญจรทางน้ำได้อย่างสะดวกสบาย และปลอดภัยตามมาตรฐานที่กรมเจ้าท่ากำหนดไว้
โดยการปรับปรุงและพัฒนาภายใต้แนวคิด “ท่าเรือ ที่เป็นมากกว่าท่าเรือ” และเป็นท่าเรือที่สร้างขึ้นบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ สามารถเชื่อมต่อการเดินทางสู่ระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้ในการเดินทางทางน้ำเป็นจำนวนมาก เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง อุโมงค์มหาราช วัดระฆังโฆสิตารามฯ ท่าน้ำศิริราช (วังหลัง) ฯ
ท่าเรือสาทร เป็นท่าเรือที่มีทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก ก่อนทำการปรับปรุง เดิมท่าเรือสาทรมีสภาพชำรุด ทรุดโทรมตามระยะเวลาและการใช้งาน พื้นที่ใช้สอยยังไม่เป็นสัดส่วน ทำให้ผู้โดยสารที่มาใช้บริการมีความแออัดเบียดเสียดบนท่าเรือ ซึ่งอัตราผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าเรือสาทรในปี 2563 เฉลี่ยต่อวัน 15,236 คน โดยมีการปรับปรุงพื้นที่ท่าเรือขนาด 1,364 ตารางเมตร โป๊ะขนาด 6 x 12 เมตร จำนวน 4 โป๊ะ โป๊ะขนาด 9 x 17 เมตร จำนวน 1 โป๊ะ ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างทางลาดด้านหน้าท่าเรือและปรับปรุงโป๊ะขนาด 6 x 12 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 2 โป๊ะ เพื่อให้สะดวกและสามารถรองรับการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ท่าสาทรจะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนทั้ง 3 รูปแบบ ล้อ ราง เรือ รวมถึงความ Smart ของการใช้บริการบริเวณท่าเรือ ที่เชื่อมต่อกับ Smart Phone หรือบัตร HOP เข้ากับยุคสังคมไร้เงินสด