xs
xsm
sm
md
lg

“วิกฤตพลังงาน-อาหาร” โลกยืดเยื้อ โอกาสและความเสี่ยงที่ไทยต้องรับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเกิดขึ้นของโควิด-19 ก่อนหน้านี้ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต (Supply Chains) ไปแล้วระดับหนึ่ง แต่การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้เข้ามาขยายปัญหานี้ให้ใหญ่ขึ้นเพราะได้นำมาซึ่งทั้งวิกฤตพลังงานและวิกฤตการขาดแคลนอาหาร โดยปัจจัยดังกล่าวทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลพวงของระดับราคาสินค้าและน้ำมันที่พาเหรดกันทยอยขึ้นราคา

ล่าสุดทำเอาผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ถึงกับต้องออกมาเตือนถึงเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่สภาวะยุ่งเหยิง หลัง 30 ประเทศมีการจำกัดการส่งออกอาหารแล้ว ซึ่งนั่นถือเป็นปรากฏการณ์กักตุนสินค้าเกษตรที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตราคาอาหารเมื่อปี 2550-2551

สำหรับไทยในฐานะประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเราจึงต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น แต่ด้วยรัฐได้ใช้กลไกให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนดีเซลและมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตมาช่วยต่อเนื่องจึงทำให้ดีเซลขณะนี้ยังอยู่ที่เพียง 32.94 บาท/ลิตร โดยล่าสุดกองทุนน้ำมันฯ ควักจ่ายดูแลเฉพาะน้ำมันฯ สูงถึงกว่า 4 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับการอุดหนุนราคาแอลพีจีก็ทะลุไปแล้ว 8.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภายใน มิ.ย.นี้เพดานดีเซลจะต้องขยับไปสู่ระดับ 34.94 บาท/ลิตรเพื่อไม่ให้กระทบสภาพคล่องของกองทุนฯ ตามมติ ครม.เมื่อ 22 มี.ค. 65 ที่ให้ลดการอุดหนุนเหลือกึ่งหนึ่ง


ส่วนการขาดแคลนอาหาร นับว่าคนไทยมีความโชคดีเพราะไทยมีภาคการเกษตร ปศุสัตว์ และฐานการผลิตอาหารสำเร็จรูป ที่เข้มแข็งจนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอยู่อันดับที่ 13 ของโลก ภาวะที่สินค้าจะหายไปจากชั้นจำหน่ายสินค้าแบบดื้อๆ เหมือนสหรัฐฯ และยุโรปจึงยังไม่ค่อยพบเห็น มีเพียงแต่ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่กระนั้น จากปัญหาปุ๋ย อาหารสัตว์ที่ราคาแพงยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิด


แนะรัฐเร่งดูแลความมั่นคงพลังงาน-อาหาร

นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนหากจำกัดวงอยู่เช่นปัจจุบันโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าอาหารจะมีมากขึ้นแม้ว่าระดับราคาสินค้าจะมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นจากต้นทุนทั้งราคาน้ำมัน วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ที่แพงก็ตาม แต่หากยืดเยื้อและขยายวงไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ และที่สุดนำไปสู่สงครามใหญ่บริบทจะเปลี่ยนไปทันที และสิ่งสำคัญมากกว่าการส่งออกที่ไทยต้องเตรียมพร้อมไว้คือ ความมั่นคงทั้งด้านพลังงานและอาหารที่จะเพียงพอดูแลคนในประเทศ

“หลายประเทศเขามีการคิดที่จะดูแลคนในประเทศ โดยการจำกัดการส่งออก และมีการสำรองอาหารกันไว้บ้างแล้ว แต่ไทยเองผมยังไม่เห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมี Action Plan ใดๆ ที่จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นได้ว่าหากเกิดกรณีเลวร้ายขึ้นมาคนไทยจะมีอาหารเพียงพอในภาพรวม และหากถามว่าพอไหมคงต้องถามรัฐเพราะจะรู้ปริมาณการผลิตของแต่ละฤดูเก็บเกี่ยว และสต๊อกสินค้าแต่ละชนิด ว่าถึงจุดที่ต้องจำกัดการส่งออกหรือยัง รวมไปถึงคาดการณ์ในฤดูการผลิตถัดไปเป็นอย่างไรในการเตรียมรับมือ” นายธรรศกล่าว


ทั้งนี้ โลกไม่เหมือนอดีตเพราะมีการแบ่งขั้วชัดเจน คือฟากที่สนับสนุนเงินดอลลาร์ และฟากหนึ่งที่ไม่สนับสนุน ดังนั้นการส่งออกของไทยที่ได้เงินในรูปเหรียญดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น แต่ต้องจ่ายค่าพลังงานและอื่นๆ ที่สูงตามไปด้วยหรืออาจจะแพงกว่า การส่งออกเพิ่มก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้นทำอย่างไรที่รัฐจะบริหารจัดการที่จะทำให้สินค้าอาหาร และพลังงานไม่แพงเกินไป ซึ่งส่วนของน้ำมันนั้นเข้าใจว่าไทยต้องนำเข้าเป็นหลักจึงควรมองหาและส่งเสริมพลังงานทางเลือกในการช่วยเหลือในการดูแลห่วงโซ่การผลิต เช่น การส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับกลุ่มประมงพื้นถิ่น เป็นต้น

นายธรรศกล่าวสรุปว่า อนาคตไม่มีใครมองเห็นว่าสงครามจะดีหรือแย่ไปกว่านี้แต่ยืดเยื้อแน่นอนเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองหรือเศรษฐกิจพอเพียงคือความมั่นคงระยะยาว เพราะคุณก็รู้หรือเคยได้ยินว่า “เงินทองนั้นเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”


ส.อ.ท.ชี้สงครามไทยมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงไม่มีทีท่าว่าจะจบลงและจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั้งตะวันออกกลาง และเอเชีย แปซิฟิกหรือไม่ ซึ่งจากความตึงเครียดที่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้มีการมองว่าสงครามจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า ขณะที่สงครามส่งผลกระทบทำให้ระดับราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นและต่อเนื่องมายังวิกฤตการขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะ 10 กว่าประเทศที่ระงับส่งออกเพื่อไว้บริโภคภายในประเทศจึงทำให้ปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นในไตรมาส 3-4

ธนาคารโลกมองวิกฤตอาหารจะยืดเยื้อถึงปีหน้า จุดนี้ไทยเราอาจเจอทั้งความเสี่ยงและโอกาส เพราะทั้งน้ำมันที่แพงขึ้นย่อมกระทบให้ค่าขนส่งและราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มต่อเนื่อง และสิ่งที่ต้องเผชิญตามมาคือภาวะเงินเฟ้อที่สูง แต่โอกาสของไทยคือการส่งออกสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้เรามีคำสั่งซื้อมาจากทางยุโรปมาค่อนข้างมาก แต่เราต้องบริหารจัดการวัตถุดิบให้เพียงพอ” นายเกรียงไกรกล่าว

ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหารและส่งออกอันดับต้นๆ ของโลกจะไม่เผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหารเช่นประเทศอื่นๆ แต่นั่นหมายถึงไทยเองต้องบริหารจัดการวัตถุดิบได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญของสินค้าอาหารไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย อาหารสัตว์ ยาฆ่าแมลง ล้วนเป็นสิ่งที่ไทยยังต้องพึ่งพิงนำเข้าหากขาดแคลนก็จะกระทบต่อผลผลิตที่ลดลงได้ทันที
ดังนั้นจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ที่มีศักยภาพมาทดแทนโดยมองหาการทำสัญญาซื้อขายระยะยาว รวมไปถึงการปรับสูตรการผลิตใหม่ที่เน้นพึ่งพาห่วงโซ่การผลิต (ซัปพลายเชน) ในประเทศให้มากขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าเพื่อความมั่นคงระยะยาว โดยภาครัฐจำเป็นต้องหามาตรการส่งเสริมให้ผู้ผลิตขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยได้รับโอกาสในห่วงโซ่การผลิตให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเกินไปแม้ว่าจะเป็นผลบวกกับรายได้การส่งออกรูปเงินบาทที่จะเพิ่มขึ้น รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวก็ตาม แต่ภาพรวมจะไม่เป็นผลดีต่อการนำเข้าพลังงานและวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าของไทยที่จะมีราคาสูงขึ้น ไทยจึงต้องบริหารค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 นอกเหนือจากส่งออกที่เป็นกลไกหลักแล้วหลังจากที่รัฐบาลได้เปิดการท่องเที่ยวรับต่างชาติแบบเต็มรูปแล้วจะทำให้ภาคท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเพราะคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างน้อยมาไทยราว 6-8 ล้านคน


ไทยต้องไม่ทิ้งจุดแข็ง "ครัวของโลก"

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) และในฐานะผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะไม่เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารเพราะเป็นประเทศที่มีภาคเกษตร ฐานการผลิตอาหารสำเร็จรูปเพื่อการส่งออกที่ติดอันดับโลกแต่ก็ต้องไม่ตั้งอยู่บนความประมาทเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อและยังไม่แน่นอนว่าจะไปในทิศทางใดแน่ ดังนั้นไทยต้องเช็กสต๊อกสินค้าเพื่อป้องกันกรณีหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถจำกัดโควตาการส่งออกได้

"ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบต่างๆ สูง ย่อมทำให้ราคาสินค้าจะแพง กลุ่มอาหารก็เช่นกันราคาจะแพงขึ้นแน่นอนจึงไม่เกิดวิกฤตขาดแคลน แต่ถ้าสงครามใหญ่เกิดขึ้นก็เป็นอีกเรื่องนะ แต่เราก็ไม่ควรทำตัวประมาทเพราะหากเราปล่อยภาคเกษตรให้เป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ต่อไปประเทศเพื่อนบ้านจะได้เปรียบในแง่ต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าโดยเฉพาะค่าแรง ที่สุดเราอาจจะเป็นผู้นำเข้าแทนก็ได้" นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ ไทยถือว่าเดินมาถูกทาง นั่นคือ การส่งเสริมให้ไทยเป็นครัวโลก จึงอย่าทิ้งจุดแข็งนี้แล้วมัวแต่ไปมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เทคโนโลยีของไทย จนลืมไปว่าไทยเป็นเมืองเกษตรมานานแล้วและควรจะต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม วิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น ประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วเขายังไม่เคยละทิ้งภาคเกษตรแต่อย่างใดและทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งได้แต่ไทยกลับละเลยสิ่งเหล่านี้

สำหรับพลังงานที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตของโลกและของไทยเนื่องจากราคาได้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลักจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ ซึ่งหากสงครามยืดเยื้อและบานปลายไทยจะเผชิญปัญหานี้หนักเพิ่มขึ้น การเตรียมพร้อมรับมือของภาครัฐจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะราคาพลังงานและสินค้าที่ปรับขึ้นต่อเนื่องจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้หลายคนคาดว่าจะก้าวแตะไปสู่ระดับ 5% จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง

สรุป ความเห็นจากมุมมองบางส่วนของภาคเอกชนต่างก็ส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกันว่า สงครามยังคงยืดเยื้อและมีเค้าลางที่อาจก้าวไปสู่การขยายพื้นที่การสู้รบเพิ่มได้ตลอดเวลา ดังนั้น วิกฤตราคาพลังงาน วิกฤตอาหาร ทั่วโลกเผชิญแม้ไทยอาจกระทบไม่เต็มที่เพราะอยู่ในฐานะครัวโลก...แต่ก็ไม่ควรตั้งอยู่บนความประมาทท่ามกลางระบบโลกที่เปลี่ยนไป
กำลังโหลดความคิดเห็น