xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าบูรณาการวังโตนด 3 ฝ่าย สทนช.-กรมชลประทาน-กรมอุทยานฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อกลางปี 2564 หลังจากผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) มาก่อนแล้ว

​น่าจะเริ่มก่อสร้างได้เร็ววัน

​แต่ขั้นตอนการก่อสร้างไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น ยังมีกฎหมายอุทยานแห่งชาติที่กำหนดต้องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาอนุมัติให้กรมชลประทานเข้าใช้พื้นที่ก่อน แล้วประกาศเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ถึงส่งเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณก่อสร้างตามมา

ตรงนี้แหละที่เป็นประเด็นปัญหา เพราะไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณา

พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ได้เรียกประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อรับทราบความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ผู้เข้าร่วมประชุมหลักๆ ได้แก่ นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และนางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สุดท้าย ประธานในที่ประชุมเสนอให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง 3 หน่วย ประกอบด้วย สทนช. กรมชลประทานและกรมอุทยานฯ จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำและอนุรักษ์ธรรมชาติ

ผลจะคืบหน้าอย่างไร คงต้องติดตามต่อไป

เพราะว่าไปแล้ว เป็นอำนาจตามกฎหมายของกรมอุทยานฯ โดยตรง แต่ถ้ามองดูอีกที ผู้ที่กำกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ดูแลเรื่องน้ำโดยตรง และเป็นคนผลักดันโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนดอยู่แล้ว

โครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด ควรขับเคลื่อนเป็นผลสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ มากกว่ารัฐบาลชุดหลังจากนี้ เพราะชุมชนลุ่มน้ำวังโตนดแสดงเจตจำนงต้องการให้พัฒนา อ่างเก็บน้ำทั้ง 4 ประกอบด้วย อ่างฯ คลองประแกด คลองพะวาใหญ่ คลองหางแมว และคลองวังโตนด ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเก็บกักน้ำได้ถึง 308 ล้านลูกบาศก์เมตร

โครงการเหล่านี้ ไม่เพียงเก็บกักน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ จ.จันทบุรี เท่านั้น หากยังส่งน้ำส่วนเกินประมาณปีละ 140 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ผ่านระบบท่อไปเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง เพื่อกระจายน้ำไปในพื้นที่อีอีซีต่อไป

การจัดตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายถือเป็นเรื่องดี และอาจเป็นรูปแบบการทำงานในอนาคต แต่ถ้าให้ดีกว่านี้ ควรผลักดันอย่างจริงจังจากรัฐบาลในฐานะเจ้าของนโยบายเรื่องนี้โดยตรง

ว่าไปแล้ว ทั้งความเหมาะสมโครงการ ทั้งการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ล้วนผ่านการกลั่นกรองจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก่อนแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ล้วนมีผู้บริหารระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วยทั้งสิ้น

ดูแล้วไม่น่าเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนโครงการนี้ได้เลย กลับกัน ความล่าช้าของโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด ไม่น่าจะเป็นผลดีแก่ฝ่ายใดเลย ไม่ว่าเกษตรกร ประชาชน และกลุ่มอุตสาหกรรมในอีอีซี

สำหรับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนดช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้พื้นที่อีอีซีในระดับหนึ่ง นอกเหนือจากแสวงหาช่องทางใหม่ๆ ในการจัดหาน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำในอนาคต เพราะพ้นจากปี 2570 ไปแล้วคาดการณ์ว่าจะเริ่มขาดแคลนน้ำ

​เป็นโจทย์ที่ต้องตีให้แตกโดยเร็วเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น