xs
xsm
sm
md
lg

อีอีซีโชว์ 4 ปีดันลงทุน 1.7 ล้านล้าน ทุนต่างชาติเริ่มขยับปักหมุดไทยฐานผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกพอ.โชว์ผลสำเร็จขับเคลื่อนอีอีซี 4 ปี ผลักดันลงทุน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักครบ ดึงทุนต่างชาติเสริมแกร่งเศรษฐกิจ มูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านบาท ปักหมุด 5 ปี (ปี 65-69) ดันลงทุน 2.2 ล้านล้านบาทแย้มต่างชาติยังเล็งไทยฐานผลิตต่อเนื่อง จับตาจีนปักหมุดลงทุนคลัสเตอร์อีวี เยอรมนีมุ่งแบตเตอรี่ รีไซเคิลพลาสติก ลุย 5G เต็มสูบเอื้อลงทุน ควบคู่ดูแลมิติสังคม สิ่งแวดล้อม

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
เปิดเผยในงานเสวนา "4 ปีอีอีซี ภารกิจขับเคลื่อนไทย เชื่อมทุกมิติอย่างยั่งยืน ว่า การขับเคลื่อนเขตพัฒนาภาคตะวันออก (อีอีซี) ตลอด 4 ปีได้สร้างเม็ดเงินการลงทุนระยะที่ 1 (ปี 2561-64) กว่า 1.72 ล้านล้านบาทซึ่งถือว่าเร็วกว่าแผนที่ตั้งเป้าหมายไว้ 5 ปี (ปี 2561-65) ส่งผลให้ขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินหน้าในระยะที่ 2 (ปี 2565-69) ที่จะเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้น 2.2 ล้านล้านบาทหรือเฉลี่ยปีละ 4 แสนล้านบาท โดยมุ่งเน้นการลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์ BCG โมเดล ฯลฯ ซึ่งแนวโน้มการลงทุนยังมีต่อเนื่องโดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จีนสนใจที่จะมาลงทุนแบบคลัสเตอร์ ทั้งแบตเตอรี่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รถอีวี ฯลฯ มากขึ้น

“นักลงทุนยังเข้ามาดูพื้นที่ต่อเนื่อง ถือว่าการลงทุนยังคงมีสัญญาณที่ดี เชื่อว่าปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่การลงทุนเฉลี่ยในอีอีซีจะอยู่ที่ปีละ 4 แสนล้านบาทตามแผนระยะที่ 2 เพื่อเป็นกลไกผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตเฉลี่ย 4.5-5% ต่อปีเพื่อหนุนให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางก้าวสู่ประเทศพัฒนาปี 2572 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเลขาธิการฯ หลังตนครบวาระนายกฯ กำลังพิจารณาบุคคลที่เหมาะสม ยืนยันว่าจะไม่กระทบแผนงานแต่อย่างใด” นายคณิศกล่าว

ทั้งนี้ การลงทุน 4 ปีที่ผ่านมาสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลักได้ รถไฟความเร็วสูงฯ-สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบังมีความสำเร็จของการลงทุนรูปแบบโครงการร่วมทุนรัฐ-เอกชน (PPP) วงเงิน 655,821 ล้านบาท รัฐลงทุนเพียง 36% แต่ได้รับผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันกว่า 440,193 ล้านบาท ทำให้ประเทศก้าวสู่การพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาทุนจากต่างประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่ง 4 โครงการคืบหน้าและจะเปิดบริการได้ราวปี 2569


นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านต่างประเทศ สกพอ. กล่าวว่า การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งประมาณการจากบัตรส่งเสริมลงทุนบีโอไอขณะนี้มีมูลค่า 985,799 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงมีการเข้ามาสอบถามเพื่อตัดสินใจลงทุนมากขึ้น ซึ่งจากการที่รัฐส่งเสริมอีวี ทำให้จีนกำลังจะเข้ามาในลักษณะที่เป็นคลัสเตอร์ ขณะที่นักลงทุนจากเยอรมนีมีความสนใจลงทุนแบตเตอรี่ รวมไปถึงอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติกเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และรวมไปถึงปิโตรเลียม

“มีนักลงทุนต่างชาติมาไทยหลากหลายขึ้นเพราะมองอุตสาหกรรมต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งอีวีที่มาเป็นคลัสเตอร์ แม้กระทั่งเทคโนโลยีเยอรมนีเขาเริ่มปักหมุดแล้ว น่าจะเป็นภาพที่ดีนอกจากภาษีฯ ที่จูงใจแล้วเราเองจะต้องมองในเรื่องความพร้อมด้านบุคลากรที่มีทักษะรองรับ แต่ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ทำไว้ถือเป็นอีกจุดที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้ไทย” นางนงนุชกล่าว

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สกพอ. กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ จะส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดได้ภายในเดือนนี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 69 สนามบินอู่ตะเภาฯ เอกชนคู่สัญญาได้เข้าพื้นที่เพื่อสำรวจและเตรียมการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 68 เปิดปี 69 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้เริ่มต้นการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานทาง มั่นใจทุกโครงการจะเสร็จตามแผนพร้อมเปิดบริการได้ปี 2569 ในภาพรวม

นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี สกพอ. กล่าวว่า การใช้ 5G ในพื้นที่อีอีซี ได้ติดตั้งสัญญาณครบ 100% ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการใช้ 5G อย่างกว้างขวาง โดยต่อยอดพัฒนาในภาคการผลิต สู่อุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาในระดับชุมชน และด้านการจัดการข้อมูลเพื่อต่อยอดธุรกิจ โดยผลักดันให้ชุมชนบ้านฉางก้าวสู่ smart city บ้านฉาง (EEC Tech Park) มูลค่าลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าก่อสร้างในเฟสแรกภายในปี 2567 และในพื้นที่เมืองพัทยา ได้วางโครงสร้างพื้นฐานเสา 5G ไปแล้วกว่า 100 เสา เป็นต้น

นายธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน (สกพอ.) กล่าวว่า อีอีซีได้เดินหน้าพัฒนาด้านสังคม ผ่านแนวคิด 5 สร้าง ได้แก่ สร้างอาชีพ สร้างความรู้ สร้างรัฐสวัสดิการ สร้างเครือข่าย และสร้างการเข้าถึงสถาบันการเงินผ่านโครงการนำร่อง ได้แก่ 1. การพัฒนาพื้นที่ตลาดลานโพธิ์นาเกลือ สู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนมาตรฐานโลก 2. การพัฒนา Wellness Center ผลักดันท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อีอีซี 3. การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน 4. การร่วมกับ 7 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ สนับสนุนบริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 5. แผนพัฒนาการเกษตร เป็นต้นแบบการใช้ตลาดนำการผลิต ใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลิตให้เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง ฯลฯ และเป้าหมายต่อไป จะยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาเมืองที่ทันสมัย รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น