สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ “TIPMSE” ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และองค์กรเครือข่ายภาคเอกชน รวม 50 องค์กรเร่งขับเคลื่อน “EPR” เพื่อก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนรับกติกาโลกที่ประเทศพัฒนากำลังเข้มงวดเพื่อแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน คพ.แย้มอนาคตอาจต้องใช้ระเบียบหรือ กม.เพื่อนำไปสู่ภาคบังคับ
นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือ TIPMSE ส.อ.ท. เปิดเผยในการสัมมนา “EPR ทางรอดของธุรกิจไทย และการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังมุ่งสู่นโยบาย Extended Producer Responsibility (EPR) หรือหลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นแนวทางดังกล่าวมีความสำคัญที่จะต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืนโดยเฉพาะจากภาคเอกชน
“TIPMSE ได้ร่วมมือกับ 50 องค์กร ภาครัฐ เอกชน และเทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชังภายใต้โครงการ PackBack …เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน เริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการ EPR ครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเวทีนี้หวังที่จะมุ่งขยายความเข้าใจและความร่วมมือในการนำกลไก EPR ในการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนแต่ละประเทศต่างกัน รูปแบบที่เหมาะสมก็อาจต้องต่างกันไป” นายโฆษิตกล่าว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตขึ้นเพื่อร่วมจัดทำนโยบาย EPR ที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะจากขยะบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม การนำ EPR ไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาขยะโดยเฉพาะพลาสติกยังคงเป็นความสมัครใจ ซึ่งระยะต่อไปทาง คพ.กำลังพิจารณาที่จะยกร่างเป็นกฎระเบียบหรือกฎหมายให้เกิดการบังคับใช้ในอนาคต เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
นายจิรัตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการส่วนยุโรป 1 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหภาพยุโรป (อียู) ได้กำหนด Economy Action Plan ได้พัฒนากรอบกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนครอบคลุมสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น รวมไปถึงกำหนดภายในปี 2024 ประเทศสมาชิกจะต้องใช้ EPR มาบังคับใช้เพื่อรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ เหล่านี้จำเป็นที่ภาคธุรกิจจะต้องติดตามกติกาหรือระเบียบเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ต้องเตรียมความพร้อมปรับใช้นวัตกรรมมาช่วยในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่จะสามารถนำกลับไปรีไซเคิลแล้วนำกลับมาใช้ได้อย่างปลอดภัย และต้องร่วมมือกับรัฐเพื่อการสื่อสารสองทางในการทำงานกันให้ใกล้ชิดมากขึ้น