เอสซีจี เคมิคอลส์ ชูศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการรายเดียวในภูมิภาคนี้ที่มีฐานการผลิตใน 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในอาเซียนทั้งไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม ชี้ปี 66 SCGC มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 40% แตะ 9.8 ล้านตัน หลังโครงการ LSP คอมเพล็กซ์ ปิโตรเคมีในเวียดนามเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งแรกปีหน้า
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC) เปิดเผยความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ในเวียดนามว่า ขณะนี้การก่อสร้างเดินหน้าไปตามแผน คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในครึ่งปีแรกของปี 2566 ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นกว่า 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.9 ล้านตัน เพิ่มเป็น 9.8 ล้านตันต่อปี ทำให้ปีหน้าผลประกอบการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินเครื่องจักร ทั้งการเตรียมสัญญาซื้อขายวัตถุดิบในระยะยาว การทำตลาดล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการจำหน่าย เป็นต้น โดยโครงการดังกล่าวได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในรูปแบบ Flexible Cracker สามารถเลือกวัตถุดิบที่หลากหลายเข้ามาใช้ในการผลิตได้มากขึ้น โดยสามารถใช้ก๊าซฯ เป็นวัตถุดิบได้ถึง 70 ส่งผลดีต่อการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อโครงการ LSP ผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว สามารถรองรับความต้องการใช้ปิโตรเคมีในประเทศได้ไม่ถึง 30% ทำให้เวียดนามยังต้องนำเข้าปิโตรเคมีอีก 70% ความต้องการใช้รวม
ดังนั้น บริษัทจึงได้ศึกษาแผนขยายโครงการ LSP ระยะที่ 2 เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการขยายโรงงานอยู่แล้ว รองรับความต้องการสินค้าปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่สูงอีกด้วย (Foreign Direct Investment - FDI)
นายธนวงษ์กล่าวว่า ปัจจุบัน SCGC มีฐานผลิตใน 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 440 ล้านคน หรือประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน มีสัดส่วนรายได้จากอาเซียน คิดเป็นประมาณ 21% โดยสินค้าที่ผลิตมีการจำหน่ายไปกว่า 120 ประเทศทั่วโลก มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่โมโนเมอร์ต้นน้ำและพอลิเมอร์ปลายน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องของปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปัจจุบัน มีกำลังการผลิตรวม 6.9 ล้านตันต่อปี คิดเป็นส่วนแบ่งกำลังการผลิตในภูมิภาคอาเซียน (ณ เดือนธันวาคม 2564) ร้อยละ 19 หรือเกือบ 1 ใน 5
ส่วนในอินโดนีเซีย บริษัทถือหุ้น 30% ใน Chandra Asri PetrochemicalTbk (CAP) ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่ในอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการการศึกษาและตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย(FID)ในการพัฒนาและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีของ CAP2 คาดว่าจะ FID ได้ภายในปลายปีนี้
“ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี โดยคาดการณ์เวียดนามและอินโดนีเซียจะมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 5-6% ต่อปี ภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของ GDP ทั่วโลกเกือบเท่าตัว นอกจากนี้ อัตราการใช้พอลิเมอร์ในภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบัน (ณ 31 ธันวาคม 2564) อยู่ที่ 26 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งยังต่ำกว่าในยุโรปและสหรัฐอเมริกา 2-3 เท่า ตลาดอาเซียนจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเวียดนามยังต้องนำเข้าพอลิเมอร์ประมาณ 75% และอินโดนีเซียประมาณ 50% เนื่องจากมีกำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นโอกาสของ SCGC ที่จะใช้ความได้เปรียบจากการมีฐานการผลิตในกลุ่มประเทศดังกล่าว และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้รวดเร็วกว่า” นายธนวงษ์กล่าว
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และธุรกิจของ SCGC ถือว่ามีศักยภาพและโอกาสการเติบโตทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยธุรกิจเคมีภัณฑ์จะถูกขับเคลื่อน และได้รับประโยชน์จากเมกะเทรนด์ที่สำคัญๆ ของโลกและภูมิภาคอาเซียน เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เนื่องจากการขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด และการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้เคมีภัณฑ์ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของ SCGC ที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services - HVA) รวมไปถึงการพัฒนา Green Innovation เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon โดยในปี 2564 บริษัทฯ มีสัดส่วนสินค้า HVA คิดเป็นประมาณ 36% ของรายได้รวมของบริษัทฯ และมีแผนจะขยายสินค้าในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573
นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า SCGC ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย SCGC คาดว่าจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 3,854,685,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท (รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) อาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจาก SCGC ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment)) โดยหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25.2% ของทุนชำระแล้วภายหลังการเพิ่มทุนและการออกและเสนอขายหุ้น IPO เพื่อเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก
โดยบริษัทมีแผนจัดสรรหุ้น IPO ด้วยวิธีแบบ Small Lot First เหมือนกับการจัดสรรหุ้น IPO ของ SCGP เพื่อกระจายให้นักลงทุนที่สนใจอย่างทั่วถึง
เงินที่ได้จากการการระดมทุนดังกล่าว ใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้บริษัท รวมทั้งเป็นเงินลงทุนในการขยายธุรกิจซึ่งรวมถึงการขยายกำลังการผลิตหรือการพัฒนาศักยภาพของ SCGC และบริษัทย่อยของ SCGCรวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ทำให้บริษัทฯ มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อรองรับแผนงานขยายธุรกิจที่วางไว้ นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนและเตรียมแผนการขยายเพิ่มเติมทั้งในเวียดนาม และอินโดนีเซีย
ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 ยังท้าทายอยู่ เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ ขณะที่การปรับขึ้นราคาสินค้ายังไม่สามารถผลักภาระต้นทุนได้เต็มที่เนื่องจากสภาพตลาดไม่เอื้อจากการล็อกดาวน์ในจีน และคู่แข่งมีการตัดราคาขาย
“ผลการดำเนินงานในปี 2564 SCGC มีรายได้จากการขาย 238,390 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 27,068 ล้านบาท แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจเคมีภัณฑ์จะมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทุกรายในอุตสาหกรรม โดย SCGC เชื่อมั่นว่า ความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมไปถึงการมุ่งพัฒนาสินค้า HVA เพื่อตอบสนองเมกะเทรนด์ การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ESG รวมทั้งการขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่ม PVC ฯลฯ จะทำให้บริษัทฯ ก้าวข้ามความท้าทายและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว”