ขสมก.แจงเหตุรถสาย 522 ไฟไหม้ เหตุเบรกล็อกยางระเบิด ชี้ฝนตกน้ำท่วมเบรกเกิดสนิม สั่ง "ช.ทวีฯ" เพิ่มวงรอบตรวจเช็กและเปลี่ยนผ้าเบรกก่อนครบกำหนด เปิดปมไฟไหม้รถ NGV ซ้ำรอยสาย 145 สงสัยใช้วัสดุภายในรถไม่ลามไฟตาม TOR จริงหรือไม่
จากกรณีเหตุรถโดยสารปรับอากาศ สาย 522 หมายเลข 1 - 70370 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 เวลา 20.55 น.นั้น
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เบื้องต้น ขสมก.รายงานว่าเกิดจากระบบเบรกล็อก และยางล้อเกิดระเบิด ทำให้เพลิงไหม้รถเสียหายทั้งคัน ซึ่งรถโดยสารมีประกันชั้น 3 ส่วนการซ่อมบำรุงมีบริษัทเอกชนดำเนินการ ซึ่งต้องตรวจสอบว่าสัญญาซ่อมบำรุงมีความคุ้มครองเรื่องความเสียหายของตัวรถโดยสารอย่างไร ทั้งนี้ ได้ให้ ขสมก.ตรวจสอบสภาพรถโดยสาร NGV ที่ใช้งาน รวมถึงรถโดยสารทุกคันของ ขสมก. ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพเก่าอายุใช้งานนาน โดยเฉพาะที่อายุ 20-30 ปี จะต้องตรวจสอบให้ถี่ขึ้นเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ขสมก.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหารถโดยสารใหม่ ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) จำนวน 800-1,000 ภายในปี 2565 ซึ่งจะทยอยรับมอบเพื่อนำมาให้บริการประชาชน รวมถึงการปรับปรุงระบบตั๋วโดยสารเป็น E-Ticket ส่วนการบริหารที่นำไปสู่การปรับอัตราค่าโดยสารเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชนนั้น จะยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะต้องรอเรื่องแผนฟื้นฟู
@ขสมก.แจงฝนตกน้ำท่วมเบรกเกิดสนิม ทำให้เกิดอาการเบรกติด
วันที่ 24 พ.ค. 2565 นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ประชุมกับผู้รับเหมาถึงกรณีรถโดยสารปรับอากาศ (รถเมล์) สาย 522 รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เกิดเพลิงไหม้หน้าห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่างามวงศ์วาน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 เวลา 20.55 น.
นายกิตติกานต์เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุ ขสมก.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบรถโดยสารคันดังกล่าว โดยพบว่ามีสาเหตุเกิดจากระบบห้ามล้อขัดข้อง ทำให้เบรกติด วงล้อเกิดความร้อน ส่งผลให้ยางระเบิดและเกิดเพลิงไหม้เนื่องจากไฟลุกลามเร็วมากจึงไม่สามารถควบคุมไฟได้ ลุกลามทั้งคัน ประเมินความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 4-5 ล้านบาท ซึ่ง ขสมก.จะจัดหารถเมล์คันใหม่มาให้บริการทดแทนในเส้นทางต่อไป
ทั้งนี้ ขสมก.ได้เชิญผู้บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เข้าประชุมร่วมกับผู้บริหาร ขสมก. เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข เบื้องต้นบริษัท ช ทวี ได้ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการซ่อมบำรุงรถโดยสารคันดังกล่าว โดยมีการเปลี่ยนผ้าเบรกทุกๆ ระยะทาง 60,000 กิโลเมตร แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน พื้นที่หลายแห่งมีน้ำท่วมขัง เมื่อจานเบรกถูกน้ำจะทำให้เกิดสนิม ส่งผลให้รถโดยสารมีอาการเบรกติด
ขสมก.ขออภัยประชาชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้ขอความร่วมมือบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบระบบเครื่องยนต์และอุปกรณ์ส่วนควบ ระบบไฟฟ้า การทำงานของระบบห้ามล้อ รวมถึงการเปลี่ยนผ้าเบรกก่อนรอบระยะเวลาในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันไม่ให้รถโดยสารมีอาการเบรกติด จนเกิดเพลิงไหม้ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น และเป็นการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
@เปิดปมสงสัยใช้วัสดุภายในรถไม่ลามไฟตาม TOR กำหนดหรือไม่
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า กรณีเพลิงไหม้รถโดยสาร NGV นั้นเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 รถโดยสารปรับอากาศ NGV สาย 145 ขณะจอดอยู่ภายในอู่แพรกษาบ่อดิน เวลาประมาณ 22.00 น. ซึ่งรถเลิกวิ่งให้บริการแล้ว จึงไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยรถได้รับความเสียหายบริเวณตัวถัง ภายในทั้งหมด ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตกรณีเพลิงไหม้รถโดยสาร NGV ครั้งนี้ และกรณีเหตุเพลิงไหม้รถ ปอ.145 ที่อู่สายลวดเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2563 เหตุใดเพลิงไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทั้งๆ ที่หากตรวจสอบ TOR การประมูลรถโดยสาร NGV จำนวน 489 คัน ดังกล่าว ได้กำหนดคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ภายใน เช่น ผ้าม่าน ผ้ายางปูพื้น ที่นั่ง ต้องทำด้วยวัสดุไม่ลามไฟ เพื่อชะลอการลุกไหม้ และให้ผู้โดยสารมีเวลาเพียงพอในการออกจากรถ
เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงว่าวัสดุที่ใช้ภายในอาจไม่เป็นไปตาม TOR อย่างครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีผู้สังเกตการณ์ ในการประมูลโครงการได้เคยให้ข้อเสนอแนะต่อกรรมการตรวจรับรถฯ ให้ความสำคัญต่อขั้นตอนการตรวจสอบวัสดุภายในไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ ขสมก. สามารถพิสูจน์ได้ไม่ยาก โดยการสุ่มตัวอย่างวัสดุของรถที่ใช้งานอยู่เพื่อนำไปตรวจสอบอีกครั้ง หากพบมีปัญหาจะได้เร่งแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีกซึ่งอาจเป็นเรื่องร้ายแรงจนทำให้เกิดมีผู้เสียชีวิตได้