ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกทั้งประเทศอยู่ประมาณ 400,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กรายน้อย บางรายเปิดร้านแบบตามมีตามเกิด ไม่พัฒนา ไม่ปรับปรุงร้านค้า ทำให้หลายๆ รายประสบปัญหาในการทำธุรกิจ และล้มหายตายจากไปก็มาก แต่บางรายมีการพัฒนา มีการปรับตัว ทำให้หลายๆ รายสามารถอยู่รอด และแข่งขันได้ ทั้งๆ ที่มีคู่ต่อสู้ใหญ่ อย่างร้านค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ หรือร้านสะดวกซื้อ ที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ และที่ผ่านมาได้มีโครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการโชวห่วยไทย ซึ่งได้ดำเนินการมาต่อเนื่องหลายปี สามารถผลักดันให้โชวห่วยเป็นสมาร์ทโชวห่วยได้แล้วประมาณ 34,572 ราย แต่ก็ยังถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับร้านค้าที่มีอยู่ทั้งระบบ
ทั้งนี้ หลังจากที่ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้ามากำกับดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีนโยบายให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโชวห่วยเป็นสมาร์ทโชวห่วยอย่างต่อเนื่อง โดยต้องการให้ช่วยปรับโฉมหน้าร้านโชวห่วยให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อให้ร้านค้าส่งค้าปลีกของไทยดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สามารถแข่งขันได้ และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก
“สินิตย์” สั่งลุยพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีก
นายสินิตย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ร้านค้าส่งค้าปลีกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว หรือร้านอาหาร เนื่องจากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนทุกครัวเรือน ทำให้ร้านโชวห่วยมีการเติบโตต่อเนื่อง และขยายตลาดออกไปมากขึ้น รองรับฐานลูกค้าชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงต้องเข้าไปช่วยพัฒนาให้แข็งแกร่งขึ้น
“ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าไปพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกสู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วย เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ ช่วยลดต้นทุน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะเมื่อผู้ประกอบการสมาร์ทโชวห่วย มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพเพียงพอ ก็จะสามารถช่วยเหลือชุมชน นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายกระจายรายได้สู่ชุมชน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้” นายสินิตย์กล่าว
ปีนี้ตั้งเป้าพัฒนา 3,030 ราย
นายสินิตย์กล่าวว่า หลังจากที่ได้มอบนโยบาย ได้รับรายงานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่าในปี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาธุรกิจโชวห่วยเป็นสมาร์ทโชวห่วยจำนวน 3,030 ราย แยกเป็นการจัดกิจกรรมลดต้นทุนและพัฒนาร้านค้าโชวห่วยทั่วประเทศสู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วย จำนวน 3,000 ร้านค้า โดยจะดำเนินการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 2,700 ราย ซึ่งเป็นกิจกรรมพื้นฐานในการพัฒนาผู้ประกอบการให้เป็นสมาร์ทโชวห่วย ประกอบด้วยกิจกรรมอบรมผ่านระบบออนไลน์ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโชวห่วยทั่วประเทศ รวม 900 ราย กิจกรรมสัมมนา “ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ สร้างเครือข่ายสู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วย” สำหรับผู้ประกอบการโชวห่วยใน 4 ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้) รวม 1,800 ราย รวม 12 ครั้ง
ภายในงานสัมมนา จะมีการบรรยายให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และกิจกรรมส่งเสริมการขายเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการและหน่วยงานพันธมิตร เช่น บูทสินค้าราคาพิเศษจากร้านค้าส่งท้องถิ่น ผู้ผลิตสินค้าชุมชน ผู้ให้บริการ POS ผู้ให้บริการเสริม และสถาบันการเงิน โดยกำหนดการจัดกิจกรรมสัมมนา 12 ครั้ง โดยช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2565 จัดไปแล้ว 3 ครั้ง ที่ จ.สิงห์บุรี กรุงเทพฯ และระยอง เดือน พ.ค. 2565 จัดแล้ว 4 ครั้ง ได้แก่ จ.ยโสธร จ.กาญจนบุรี นครสวรรค์ และลำพูน เดือน มิ.ย. 2565 กำหนดจัด 4 ครั้ง ได้แก่ จ.ภูเก็ต นครราชสีมา (อ.พิมาย) ลำปาง และอุดรธานี เดือน ก.ค. 2565 กำหนดจัด 1 ครั้ง คือ จ.ตรัง
ที่เหลือจะเป็นการช่วยปรับภาพลักษณ์ร้านค้าให้เป็นสมาร์ทโชวห่วย จำนวน 150 ร้านทั่วประเทศ และการส่งเสริมและผลักดันการใช้งานระบบ POS จำนวน 150 ร้านค้าทั่วประเทศ
นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมยกระดับร้านค้าโชวห่วยขนาดกลาง จำนวน 30 ร้านค้า โดยดำเนินการยกระดับมาตรฐานคุณภาพธุรกิจเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจค้าส่งค้าปลีก โดยให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง กลยุทธ์ทางการขาย การมุ่งเน้นลูกค้า ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้าเพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ โดยการให้คำปรึกษาแนะนำ แก้ปัญหาและบ่มเพาะเชิงลึก ณ สถานประกอบการ
เปิดรายละเอียดกิจกรรมที่จะช่วยสอน
สำหรับรายละเอียดกิจกรรมที่จะนำมาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาร้านค้าโชวห่วย ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1.กิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้และมุมมองแก่ผู้ประกอบการในประเด็นสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น บัญชี ภาษี การบริหารจัดการธุรกิจ การตลาด รวมทั้งเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้สามารถรับมือกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อการบริหารจัดการและสร้างโอกาสในการขาย โดยเฉพาะเรื่องการขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ ซึ่งนอกจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะจัดอบรมให้ความรู้ในรูปแบบออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญระดับกูรูแล้ว ยังมีหลักสูตร Workshop แบบเข้มข้นโดยหน่วยงานพันธมิตรที่เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ กิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้ในรูปแบบของการสัมมนาออนไซต์ นอกจากผู้ประกอบการจะได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ แล้ว ยังมีกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างร้านค้าส่งในพื้นที่ และหน่วยงานพันธมิตร พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิด และมุมมองในการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างจุดแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตนเองได้
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้จัดหลักสูตร e-learning “จากร้านธรรมดา มาเป็นสมาร์ทโชวห่วย” และหลักสูตร “การวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับร้านค้าปลีก” รวมทั้งหลักสูตรอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจสามารถเข้าเรียนได้ฟรีที่ https://dbdacademy.dbd.go.th
2. กิจกรรมปรับภาพลักษณ์ร้านค้า โดยผู้เชี่ยวชาญและทีมงานลงพื้นที่ ณ ร้านค้า เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการปรับผังร้านและจัดเรียงสินค้าตามหลักการ “5 ส” (สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย) พร้อมทั้งดำเนินการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ซึ่งจะช่วยดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าภายในร้านมากขึ้น
3.กิจกรรมการส่งเสริมและผลักดันการใช้งานระบบ POS โดยผู้เชี่ยวชาญและทีมงานลงพื้นที่ ณ ร้านค้า เพื่อให้คำแนะนำเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้ระบบ POS ในการบริหารจัดการร้านค้า สำหรับผู้ประกอบการโชวห่วยที่มีศักยภาพและมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี รวมทั้งมีการให้คำปรึกษาการใช้งานระบบอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทาง Call Center และ Line Official ตลอดจนมีสื่อออนไลน์แนะนำการใช้งานระบบ POS ในฟังก์ชันต่างๆ ซึ่งการมีระบบ POS ใช้งานภายในร้านจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการได้ในระยะยาว
มั่นใจแข่งขันได้-ช่วยขับเคลื่อนฐานราก
นายสินิตย์กล่าวว่า จากแผนการพัฒนาโชวห่วยเป็นสมาร์ทโชวห่วย จะช่วยให้โชวห่วยไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และสามารถนำองค์ความรู้มาต่อยอดดำเนินการพัฒนาร้านค้าได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในประเด็นการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า การส่งเสริมให้ร้านค้าโชวห่วยขายสินค้าด้วยระบบ POS ซึ่งจะทำให้ร้านค้า โชวห่วยมีความพร้อมที่จะแข่งขันได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเข้าไปช่วยพัฒนาไม่หยุดแค่การปรับโฉมหน้าร้านค้า การบริหารจัดการธุรกิจ แต่ยังได้เข้าไปช่วยบูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ประกอบด้วยร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น (Local Modern Trade) ที่พร้อมจะร่วมพัฒนาร้านค้าโชวห่วยสมาชิกให้เติบโตไปด้วยกัน ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย (Suppliers) ที่จัดสินค้าโปรโมชันพิเศษสำหรับร้านค้าโชวห่วยที่เข้าร่วมโครงการ ผู้ผลิตสินค้าชุมชนและผู้ให้บริการเสริมที่ช่วยสร้างจุดแข็งและเพิ่มรายได้ให้ร้านค้าโชวห่วย ผู้ให้บริการเทคโนโลยี ระบบ POS ที่จะช่วยลดต้นทุนด้านการสั่งซื้อสินค้า การบริหารจัดการ และเพิ่มโอกาสในการขาย ตลอดจนสถาบันการเงินที่นำเสนอแหล่งเงินทุนได้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ
“เป้าหมายในการพัฒนาสมาร์ทโชวห่วยมี 4 ประการ คือ 1.เพิ่มรายได้ 2.ลดต้นทุน 3.สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และเมื่อผู้ประกอบการสมาร์ทโชวห่วยมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพเพียงพอ ก็จะสามารถช่วยเหลือชุมชน นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย 4. กระจายรายได้สู่ชุมชน โดยร้านค้าสมาร์ทโชวห่วยจะเป็นแหล่งรับซื้อขายสินค้าจากชุมชน ช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชน และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ” นายสินิตย์กล่าว
เป้าต่อไปดันเข้าตลาดหลักทรัพย์เพิ่ม
นายสินิตย์กล่าวว่า โครงการสมาร์ทโชวห่วย ซึ่งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการโชวห่วยขนาดเล็กให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่รุนแรงขึ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังไม่หยุดเพียงแค่นี้ โดยมีแผนที่จะ “ยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจค้าส่งค้าปลีก” สำหรับส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นขนาดกลาง-ใหญ่ ให้มีจำนวนมากขึ้นด้วย
โดยปัจจุบันมีร้านค้าที่ผ่านการพัฒนาแล้วทั้งสิ้น จำนวน 246 ร้านค้าทั่วประเทศ กล่าวได้ว่าร้านค้าเหล่านี้คือ “ร้านค้าต้นแบบ” ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่มีความพร้อมในการทำหน้าที่ “พี่เลี้ยงโชวห่วย” เพื่อช่วยส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่ร้านค้าโชวห่วยสมาชิก และร่วมพัฒนาสมาร์ทโชวห่วยในพื้นที่ให้เติบโตไปด้วยกัน สร้างเครือข่ายค้าส่งค้าปลีกระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง
“ในจำนวนนี้ มีร้านค้าต้นแบบ 2 ราย ที่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว คือ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) จ.เชียงราย และบริษัท เค แอนด์ เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) จ.สงขลา และมีร้านค้าต้นแบบที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 2 ราย คือ บริษัท มาเธอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด จ.กระบี่ และบริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด จ.อุบลราชธานี”นายสินิตย์กล่าว