xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงเกษตรฯ เร่งแผนปฏิบัติการฯ ระยะ 5 ปี ดันภาคเกษตรไทยสู่เกษตรมูลค่าสูง เกษตรกรมั่นคงในอาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (10 พ.ค.) นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566-2570 ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศต้องมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในหลายประเด็นสำคัญ เช่น การบริหารจัดการแรงงานภาคเกษตร การแปรรูปสินค้าเกษตร การพัฒนาผู้ประกอบการ ธุรกิจเกษตร การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร การสนับสนุนแหล่งทุนให้กับเศรษฐกิจชุมชน การบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกร การส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน โดยในปัจจุบันมีแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการร่วมกัน ซึ่งแผนดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปี 2565 จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำแผนฉบับใหม่ และได้ปรับเปลี่ยนชื่อ “แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่...” เป็น “แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ....” เพื่อให้มีความสอดคล้องกับแผนระดับที่ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560

สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ได้ยกร่างแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566-2570 เสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณา โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างแผนปฏิบัติการฯ และเห็นควรให้เพิ่มเติมและปรับปรุงในประเด็นต่างๆ เช่น ความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมทั้งการกำหนดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และเพิ่มเติมแนวทางการพัฒนาในแต่ละประเด็นการพัฒนาให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้การบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงอื่นๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับร่างแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566-2570 กำหนดวิสัยทัศน์ คือ “เกษตรไทยสู่เกษตรมูลค่าสูง เกษตรกรมีรายได้สูง มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ” โดยมีประเด็นการพัฒนา 4 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นการพัฒนาที่ 1 ยกระดับศักยภาพเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการเกษตรแห่งอนาคต ประเด็นการพัฒนาที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ประเด็นการพัฒนาที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตร และประเด็นการพัฒนาที่ 4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร

ด้าน ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566-2570 กล่าวเสริมว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการฯ เป็นไปตามพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566-2570 กำหนดเป้าหมายสำคัญ เช่น การเพิ่มอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตรและเกษตรแปรรูป ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรและรายได้เงินสดสุทธิของครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้น การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรมได้รับการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน เป็นต้น

ทั้งนี้ สศก.จะปรับปรุงประเด็นต่างๆ ตามข้อคิดเห็นของคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566-2570 และจะดำเนินการจัดสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป เพื่อปรับแผนให้มีความครอบคลุมและครบถ้วน ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอแผนฉบับสมบูรณ์ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อทราบ และนำแผนเข้าสู่ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) พร้อมทั้งประกาศใช้ภายในเดือนกันยายน 2565 ต่อไป














กำลังโหลดความคิดเห็น