“สินิตย์” มอบตรา GI สินค้า “ผ้าไหมสาเกต” แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด มั่นใจช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและเพิ่มรายได้ให้ชุมชนผู้ผลิต เผยมีแผนผลักดันสินค้า GI ภาคอีสานเป็น Soft Power ส่งออกสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่ตลาดโลก
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบหนังสือการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้า “ผ้าไหมสาเกต” แก่นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ว่า กรมฯ ได้ขึ้นทะเบียน GI สินค้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอีกรายการหนึ่ง โดยปัจจุบันมีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัด 19 กลุ่ม สามารถผลิตสินค้าพื้นบ้านกว่า 15,000 ผืนต่อปี มีราคาจำหน่าย 1,800-2,500 บาทต่อผืน ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนไม่น้อยกว่า 27 ล้านบาทต่อปี และมั่นใจว่าการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า และเพิ่มรายได้ให้ชุมชนผู้ผลิตได้มากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ใช้โอกาสนี้ร่วมประชุมวางแนวทางจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน GI เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค รองรับการส่งออก และการยื่นขอรับความคุ้มครอง GI ในต่างประเทศ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น
นายสินิตย์กล่าวว่า ในภาคอีสานมีสินค้า GI ไทยหลายรายการที่มีคุณภาพ พร้อมเป็น Soft Power ของไทย เพราะสามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอีสานได้เป็นอย่างดี เช่น ผ้าไหมสาเกต จังหวัดร้อยเอ็ด เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ครอบคลุมทุกจังหวัดของภาคอีสาน ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร และข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น โดยสินค้า GI เหล่านี้ได้สร้างเม็ดเงิน สร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ท้องถิ่นอีสานกว่า 300 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงสู่ภาคการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แหล่งผลิตสินค้า GI ให้มีศักยภาพต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าสู่จังหวัด สร้างรายได้ให้ท้องถิ่นในทุกมิติด้วย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอย่างต่อเนื่อง และจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อรักษาคุณภาพ มาตรฐาน รวมถึงการเพิ่มช่องทางการตลาด ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อช่วยในการจำหน่ายสินค้า GI ไทย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าชุมชน