กรมทางหลวงชนบทเริ่มก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี จ.นครปฐม วงเงินกว่า 114 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จกลางปี 2567 ร่นระยะทาง 2 กม. เชื่อมขนส่งตำบลงิ้วราย-ตำบลสัมปทวน
กรมทางหลวงชนบทเริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี (แม่น้ำท่าจีน) ตำบลงิ้วราย-ตำบลสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มุ่งพัฒนาโครงข่ายสะพานเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางการคมนาคมขนส่งพืชผลทางการเกษตรและการเดินทางระหว่างสองฝั่งแม่น้ำให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สามารถรองรับปริมาณการจราจรภายในจังหวัดที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช.ได้เริ่มเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี (แม่น้ำท่าจีน) ตำบลงิ้วราย-ตำบลสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม แล้ว โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวน 114.278 ล้านบาท และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567
ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ภายในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่ทำการเกษตรและประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งการเพิ่มขึ้นของปริมาณการจราจรในแต่ละปี ส่วนหนึ่งมาจากการคมนาคมขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญอย่างส้มโอ ชมพู่ และฝรั่ง ออกไปสู่พื้นที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรีที่มีอยู่ทั้ง 2 แห่ง ตั้งอยู่ห่างกันราว 4-5 กิโลเมตร ส่งผลให้การเดินทางระหว่างสองฝั่งบริเวณตำบลงิ้วรายและตำบลสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี ใช้ระยะเวลานาน
ประกอบกับองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วรายมีหนังสือขอรับการสนับสนุนจากกรมทางหลวงชนบทให้พัฒนาโครงข่ายสะพานในบริเวณดังกล่าว ทช.จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี (แม่น้ำท่าจีน) ตำบลงิ้วราย-ตำบลสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เพื่อให้ประชาชนในบริเวณชุมชนระหว่างสองฝั่งแม่น้ำสามารถสัญจรไป-มาได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาและร่นระยะทางในการขนส่งลงประมาณ 2 กิโลเมตร
โครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณถนนองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วราย ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์รถเก่า (เจษฎาเทคนิค มิวเซียม) และมีจุดสิ้นสุดโครงการที่ตำบลสัมปทวน บริเวณข้างวัดปิ่นจันทราราม (วัดกกตาล) ซึ่งก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 400 เมตร ความกว้าง 9 เมตร พร้อมก่อสร้างถนนแอสฟัลต์คอนกรีตต่อเชื่อมทั้งสองฝั่งของสะพาน รวมระยะทางตลอดโครงการ 710 เมตร ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยและงานเครื่องหมายจราจรตลอดระยะทาง
ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบคมนาคมภายในจังหวัดให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคมภายในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงให้มีความสมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน