xs
xsm
sm
md
lg

“เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ชูวิสัยทัศน์ Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่โชว์วิสัยทัศน์สร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมเพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งกว่า นำทัพ “ส.อ.ท.” เป็นหนึ่งเดียวกัน เป้าหมายยกระดับอุตสาหกรรมไทยทั้งดั้งเดิมให้ก้าวหน้าต่อไปและดันอุตสาหกรรมใหม่ให้ก้าวทันโลก หนุนเอสเอ็มอีไทยต้องไปต่อ เล็งผุด 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัดดัน ศก. พร้อมเล็งถก “กกร.” พ.ค.นี้เร่งแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูงจากราคาสินค้าพาเหรดขยับราคา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 เม.ย. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ วาระปี 2565-2567 เป็นครั้งแรก โดยมีคณะกรรมการฯ จำนวนทั้งสิ้น 363 คนโดยวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้เป็นการเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวาระปี 2565-2567 โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ขึ้นดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. ซึ่งนับเป็นประธานคนที่ 16

นายเกรียงไกรกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ว่า จะมุ่งเน้น "การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมเพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งกว่าเดิม" (Strengthen Thai Industries forStronger Thailand) เนื่องจากภาคการผลิตถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคส่งออกซึ่งคาดว่าปี 2565 จะเติบโต 5-10% จากปีที่ผ่านมาที่การส่งออกทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์แต่ก็ยังมีความท้าทายที่การแข่งขันในเวทีโลกยังเพิ่มสูงขึ้นผ่านการขับเคลื่อนเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือ ONE F.T.I.      “เรามีสมาชิก 1.4 หมื่นบริษัท 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์ และ ส.อ.ท.76 จังหวัด เราต้องทำงานกันเป็นทีมเดียวกัน โดยมุ่งขับเคลื่อน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมให้เดินหน้าต่อ และวางเป้าหมายพัฒนา Next Gen Industry ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) BCG ฯลฯ เหล่านี้ต้องส่งเสริมเพื่อให้ก้าวทันโลก” นายเกรียงไกรกล่าว


สำหรับแนวทางการพัฒนาหลักๆ อาทิ ส.อ.ท.จะเร่งพัฒนาและยกระดับให้วิสาหกิจขนาดกลางและย่อ ม(เอสเอ็มอี) มีความเข้มแข็งทั้งการพัฒนาการตลาด เทคโนโลยี ฯลฯ ขณะเดียวกันยังจะผลักดันให้เกิดการพัฒนา 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด โดยทาง ส.อ.ท.แต่ละจังหวัดจะไปหารือทางจังหวัดนั้นๆ แล้วกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนา โดย ส.อ.ท.จะดึงศักยภาพของ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมยกระดับและพัฒนา รวมถึงมุ่งการพัฒนาโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry) หรือ SAI ที่จะนำร่อง SAI In The City ที่ กทม. โดยเน้นการทำ Plant Based ซึ่งเป็นอาหารที่จะทำจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ ฯลฯ โดยโครงการนี้จะสอดรับกับนโยบาย BCG โมเดล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อนาคตภาคอุตสาหกรรมไทยยังเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วน ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นคงด้านห่วงโซ่การผลิต ส.อ.ท.จะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อที่จะร่วมพัฒนาการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า ฯลฯ

นายเกรียงไกรกล่าวว่า สิ่งที่ ส.อ.ท.กังวลขณะนี้คือระดับราคาน้ำมันดีเซลที่กำลังจะสูงขึ้นที่จะสะท้อนไปยังต้นทุนค่าขนส่งวันที่ 1 พ.ค.ให้ต้องปรับขึ้นนั้นจะเป็นแรงกดดันต่อระดับราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีกและจะส่งผลต่อภาวะอัตราเงินเฟ้อทั่วไปให้สูงขึ้นอีก ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เดือน พ.ค.นี้จะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวเพื่อหารือร่วมกัน

“ปกติสต๊อกสินค้าจะมีอยู่ 3-6 เดือน ตอนนี้ยอมรับว่าสต๊อกเริ่มหมดลง และขณะนี้เกิดความต้องการเทียมขึ้นด้วยคนไปซื้อตุน แต่สต๊อกใหม่วัตถุดิบและต้นทุนที่สูงจึงมีราคาแพงราคาสินค้าย่อมต้องปรับขึ้นแต่จะขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม และภาวะตลาดเป็นสำคัญ เราจึงมองว่าหากดีเซลจะขยับก็ขออย่าขยับแรงจนช็อกขอให้ขึ้นเป็นขั้นบันได” นายเกรียงไกรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น