“จุรินทร์” ประชุม JTC ไทย-เวียดนาม ขอช่วยเจรจาจีนเปิดด่าน “ด่านโหย่วอี้กวาน-ด่านรถไฟผิงเสียง” ตลอด 24 ชั่วโมง เปิด “ด่านติงซิง” หลังถูกปิด และขอเพิ่มกรีนเลน อำนวยความสะดวกส่งออกผลไม้ พร้อมขอให้ยกเลิกห้ามนำเข้า 3 สินค้า ช่วยพีอาร์งานแฟร์ ขอใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ขายสินค้า สนับสนุนไทยลงทุนพลังงานสะอาด อำนวยความสะดวกแรงงาน ขึ้นทะเบียนจีไอ ด้านเวียดนามขอไทยช่วยลดปัญหาขาดดุลการค้า ออกใบอนุญาตนำเข้าผลไม้ 5 ชนิด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 กับนายเหวียน ห่ง เซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ว่า ได้ใช้โอกาสนี้ขอให้เวียดนามช่วยเจรจากับรัฐบาลจีน ในฐานะที่มีชายแดนติดกัน เพื่ออำนวยความสะดวกการส่งผลไม้ไทยผ่านด่านเวียดนามไปจีน โดยด่านโหย่วอี้กวาน ของจีน ที่อยู่ตรงข้ามกับด่านหวูหงิ ของเวียดนาม ปัจจุบันเปิดทำการตั้งแต่ 08.00-19.00 น. ขอให้เวียดนามช่วยเจรจากับจีนให้เปิดเป็น 24 ชั่วโมง และด่านรถไฟผิงเสียง ของจีน กับด่านรถไฟด่งดัง ของเวียดนาม เปิดทำการ 08.30-18.00 น. ขอให้ขยายเป็น 24 ชั่วโมง ส่วนด่านตงซิง ของจีน กับด่านหม่องก๋าย ของเวียดนาม ขณะนี้ปิดทำการ ขอให้ทางเวียดนามช่วยเจรจาอีกครั้งให้เปิดด่านต่อไป
ทั้งนี้ ยังขอให้เวียดนามและจีนช่วยเพิ่มช่องทางกรีนเลน (Green Lane) อำนวยความสะดวกส่งสินค้าไทยที่ผ่านกระบวนการปลอดโควิด-19 ตามมาตรฐานเข้าจีนให้เร็วขึ้น และขอให้ช่วยเจรจาทั้งสองฝ่ายเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกมากขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีเวียดนามแจ้งว่ายินดีที่จะส่งเสริมกรีนเลนให้ฝ่ายไทย แต่การเจรจากับจีนต้องหารือกันต่อไป เพราะเป็นนโยบายซีโรโควิดของจีน และตนได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด่านของจีนแล้ว ขอโอกาสในการหารือ เพราะผลไม้ไทยกำลังเริ่มออกในเดือน พ.ค. 2565 นี้
นายจุรินทร์กล่าวว่า ขอให้ทางการเวียดนามยกเลิกการระงับการนำเข้าสินค้า 3 ตัวจากไทย คือ 1. เนื้อไก่ 2.เง เงาะ และ 3. มะม่วง ซึ่งท่านรัฐมนตรีเวียดนามรับไปพิจารณา ส่วนเรื่องการส่งออกยาของไทยไปเวียดนาม ที่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อตกลงอาเซียน ขอให้ทางเวียดนามช่วยปรับปรุงให้เป็นไปตามข้อตกลงอาเซียน ยกเลิกเอกสาร และมาตรการที่เกินข้อตกลง รัฐมนตรีเวียดนามรับจะไปปรับปรุงแก้ไขให้ต่อไป
นอกจากนี้ ขอเวียดนามช่วยประชาสัมพันธ์การจัดงานแสดงสินค้าไทยในเวียดนาม โดยเฉพาะงาน Mini Thailand Week ที่จะจัดขึ้นที่นครเกิ่นเทอ 20-22 พ.ค.2565 และเมืองกว่างนิงห์ 16-19 มิ.ย. 2565 ขอให้สนับสนุนให้ไทยใช้แพลตฟอร์มของเวียดนามเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าสู่มือผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น Shopee , Lazada , เวียดนาม TIKKI และ Sendo ขอให้สนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานสะอาดของนักลงทุนไทยในเวียดนาม ขอให้สนับสนุนแรงงานเพิ่มเติมจากปัจจุบัน คือ ประมงกับก่อสร้าง โดยให้เพิ่มอีก 2 สาขา คือ แม่บ้าน และผู้ใช้แรงงาน และขอให้เร่งขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) สินค้าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนของไทย ที่ได้ไปขอขึ้นทะเบียนไว้
ส่วนเวียดนาม ขอให้ไทยสนับสนุนและช่วยแก้ไขเรื่องการขาดดุลการค้า ที่เวียดนามขาดดุลกับไทยมาก ซึ่งได้แจ้งว่าพร้อมที่จะสนับสนุนงานต่างๆ ที่เวียดนามจะมาจัดในไทย ขอให้ไทยเร่งออกใบอนุญาตนำเข้าผลไม้ 5 ชนิด คือ ส้มโอ น้อยหน่า เสาวรส ลูกน้ำนม และเงาะ ได้แจ้งให้เวียดนามใช้ช่องทาง MoU ที่ทำกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยเป็นเวทีหารือ ขอให้ท่าเรือของไทยลดขั้นตอนการตรวจสินค้า รวมทั้งช่วยตรวจเอกสารให้เร็วขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังและคมนาคมรับเรื่องนี้ไปปรับปรุงอำนวยความสะดวกให้ และขอให้ทางไทยร่วมสนับสนุนจัดงานแสดงสินค้าของเวียดนามในไทยในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งตนเรียนว่ากระทรวงพาณิชย์ไทยยินดีสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายมีความเป็นห่วงเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการค้าของทั้ง 2 ประเทศ และมีผลกระทบต่อเกือบทุกประเทศในโลก ไทยกับเวียดนามจำเป็นที่จะต้องจับมือกันให้แน่นแฟ้น รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะจะมีส่วนช่วยทำให้เราร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ทางการค้า การลงทุน ร่วมกันได้อย่างมีน้ำหนักยิ่งขึ้น และตนชวนท่านเข้าร่วมการประชุมเอเปกในปลายปีที่จะถึงนี้ด้วย
ปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเวียดนามเมื่อปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้มีการตั้งเป้าปี 2025 จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม นายจุรินทร์ได้เดินชมกิจกรรมที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (OBM) ซึ่งเป็นงานคู่ขนานกับการประชุม JTC ไทย-เวียดนาม มีคู่เจรจา 47 คู่ จากผู้นำเข้า 12 ราย ผู้ส่งออก 31 ราย คาดมูลค่าซื้อขาย 30 ล้านบาท โดยสินค้าไทยที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ อาหารและผลไม้แปรรูป เครื่องดื่ม ของขบเคี้ยว ซอสปรุงรส เครื่องสำอาง สปา ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว แชมพู ของเล่นเด็ก และน้ำมันเครื่อง เป็นต้น