คมนาคมถก "ศิริราช" ขยายบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง รฟท.-รฟม.และมหิดล ในการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าเชื่อมโรงพยาบาล หลังสายสีแดงและสีส้มล่าช้ากว่าแผน พร้อมตั้ง กก. 3 ฝ่าย ร่วมกับคมนาคม กรมราง และ สนข.เร่งวางแผนปฏิบัติการ
วันที่ 18 เม.ย. 2565 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการงานก่อสร้างสถานีศิริราชของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และงานก่อสร้างสถานีศิริราชของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เข้าด้วยกันร่วมกับงานก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลศิริราช ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมประชุม
โดยจากที่มีการทำบันทึกความร่วมมือ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่ง ประเทศไทย (รฟม.) และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการงานก่อสร้างสถานีศิริราชร่วมกันของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ร่วมไปกับอาคารโรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้สถานีศิริราชเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางสำคัญของประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลศิริราชของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เป็นโครงข่ายระหว่างฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครและฝั่งธนบุรี ควบคู่กับโครงการรถไฟสายสีแดงอ่อน ที่เป็นโครงข่ายจากสถานีศิริราชไปพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร และสามารถเปลี่ยนเส้นทางด้วยระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เข้าสู่พื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวกภายในอาคารเดียวกัน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทดแทนการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ภายในและพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลศิริราชด้วย
ในที่ประชุมได้พิจารณาการขยายเวลาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีศิริราชและอาคารรักษาพยาบาลระหว่าง รฟท. รฟม. และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ออกไปจนกว่าโครงการระบบรถไฟสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และอาคารรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลศิริราช จะแล้วเสร็จทั้ง 3 โครงการ เพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของบันทึกความเข้าใจดังกล่าว และให้เกิดการบูรณาการการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณสถานีศิริราชอย่างสูงสุด
พร้อมกันนี้ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันจากทั้ง 3 ฝ่าย ร่วมด้วยกระทรวงคมนาคม กรมราง และ สนข.เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางบูรณาการแผนอำนวยการก่อสร้าง ปรับปรุงแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับปัจจุบัน และกำหนดแผนปฏิบัติการของโครงการที่แสดงภาพรวมของกิจกรรม (Activity list) ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 รฟท. รฟม. และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล โดยสถานีศิริราชจะเป็นพื้นที่สำคัญเพราะมีโรงพยาบาลศิริราช และรถไฟฟ้า 2 สายผ่าน คือ รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของ รฟม. ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานได้บูรณาการการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณสถานีศิริราชให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงจะมีการพัฒนาการเดินทางต่อต่อเชื่อมระบบขนส่งสาธารณะอื่นทั้งถนนและทางน้ำอีกด้วย ด้านข้างสถานีรถไฟฟ้าจะมีท่าเรือเพิ่มเติมเชื่อมการเดินเรือในคลองบางกอกน้อย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง โดยสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการแล้ว แต่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) โดยอยู่ระหว่างศึกษา ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี รฟม.เตรียมร่าง RFP เพื่อเปิดประมูลหาผู้ร่วมทุน