กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โชว์ผลงานขับเคลื่อน Soft Power ช่วง 6 เดือน ดันส่งออกอาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงาม สินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย และผลไม้ ทำเงินเข้าประเทศได้แล้ว 3,905 ล้านบาท
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบาย Soft Power ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า กรมฯ ได้ดำเนินการผลักดันการส่งออกใน 4 กลุ่มสินค้าเกี่ยวข้อง ได้แก่ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงาม และสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย โดยมีผลการดำเนินการในช่วงครึ่งปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 2564-มี.ค. 2565) สามารถส่งเสริมผู้ประกอบการไทยได้ 1,878 ราย สร้างมูลค่าการค้ารวม 3,905 ล้านบาท เป็นการส่งออกสินค้า 4 กลุ่มข้างต้น 1,258 ล้านบาท และส่งออกผลไม้ 2,647 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีกิจกรรมสำคัญที่ได้ดำเนินการ ได้แก่ 1. การส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยและธุรกิจบริการอาหารไทยในต่างประเทศ ผ่านการส่งเสริมตราสัญลักษณ์ Thai Select ร่วมกับร้านอาหารและผู้นำเข้าอาหารไทย ดำเนินการแล้วใน 16 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดา จีน โปแลนด์ เยอรมนี เกาหลีใต้ สาธารณรัฐเช็ก สเปน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส มาเลเซีย สหราชอาณาจักร และอิตาลี
2. การส่งเสริมตลาดธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องสู่ตลาดต่างประเทศ (ภาพยนตร์ เกม แอนิเมชัน คาแรกเตอร์) มีแผนดำเนินการ 4 ประเทศ (สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) และรูปแบบออนไลน์ โดยได้ดำเนินการแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ American Film Market 2021 (Online) , Kidscreen Summit Virtual 2022 กิจกรรม Content Pitching และการเข้าร่วมงาน Global Game Exhibition G-Star 2021 ผู้ประกอบการเข้าร่วม 30 ราย สร้างมูลค่าการค้า 1,181 ล้านบาท
3. การส่งเสริม Wellness Medical Service สุขภาพความงาม ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจีน โดยการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา สมุนไพร ในงาน Beauty Expo และ Beauty World Middle East 2021 (รูปแบบ Mirror & Mirror) ผู้ประกอบการเข้าร่วม 29 ราย มูลค่าเจรจาการค้า 62.09 ล้านบาท
4. การบ่มเพาะผู้ประกอบการเพื่อสร้าง Mindset ด้าน Soft Power ผ่านโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO) และ Salesman จังหวัด Go Intern ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการและ Salesman จังหวัดยุคใหม่แล้ว 1,652 ราย
5. การส่งเสริมสินค้าสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ไทย ผ่านโครงการส่งเสริมนักออกแบบสินค้า บริการนวัตกรรม และพัฒนาส่งเสริมสินค้า OTOP อยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าและผู้ประกอบการดำเนินการแล้ว 72 ราย มูลค่าการค้า 14.39 ล้านบาท
6. การส่งเสริมแบรนด์ประเทศไทย ผ่านตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark และการส่งเสริมสินค้า ที่มีการออกแบบดี ตลอดจนการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการศักยภาพไทยสู่ตลาดโลก ผู้ประกอบการ 95 ราย
ส่วนการผลักดันการส่งออกผลไม้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ของไทย ได้มีการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching - OBM) สำหรับฤดูผลไม้ภาคตะวันออกกับผู้นำเข้าทั่วโลกไปแล้ว 2 ครั้ง สร้างยอดขาย 2,617.33 ล้านบาท และกำหนดจัดอีกครั้งในเดือน ก.ค. 2565 สำหรับฤดูผลไม้ภาคใต้และภาคเหนือ ตลอดจนมีแผนจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศอีก 9 โครงการ โดยมีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ 2 งาน ได้แก่ 1. งาน Taste of Thailand ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 8-28 เม.ย. 2565 สินค้ายอดนิยม ได้แก่ มะม่วง มังคุด ทุเรียน และสับปะรด คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อ 29.7 ล้านบาท และ 2. เทศกาลอาหารและผลไม้ไทย ณ กรุงไทเป ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 7-20 เม.ย. 2565 ร่วมมือกับ Breeze super ซูเปอร์มาร์เกตไฮเอนด์ เปิดตัวทุเรียนสดพร้อมรับประทานจากไทยขายในไต้หวันครั้งแรก ซึ่งรวม 2 กิจกรรมสร้างยอดขายได้แล้ว 2,647 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2565 ยังได้กำหนดจะจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่ “Thai Fruit Golden Months” ส่งเสริมการขายผลไม้ไทยในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ใน 13 เมืองกระจายทั่วประเทศจีน เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการส่งออกผลไม้ไทย