คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติตามที่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” เสนอให้ “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมต่อไปอีก 1 ปี หลังจากดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาครบ 4 ปีแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2565 ถึงวันที่ 17 ก.พ. 2566 เนื่องจากยังมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บังเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ การต่ออายุในตำแหน่งอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศดังกล่าวถือเป็นประวัติศาสตร์ในกระทรวงพาณิชย์อีกครั้งที่มีการต่ออายุการดำรงตำแหน่งในระดับอธิบดีของกระทรวงพาณิชย์ จากที่ก่อนหน้านี้การต่ออายุในตำแหน่งเดิม คือ การต่ออายุการดำรงตำแหน่งของปลัดกระทรวงพาณิชย์ นั่นแสดงให้เห็นว่า หากไม่มีฝีไม้ลายมือเป็นที่ประจักษ์ ก็คงยากที่จะได้รับโอกาสเช่นนี้
เปิดภารกิจสำคัญที่ต้องขับเคลื่อน
สำหรับภารกิจที่นางอรมนจะต้องรับผิดชอบในการขับเคลื่อนในช่วง 1 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่เป็นงานต่อเนื่อง และเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และลงลึกถึงรายละเอียด เพราะเป็นงานเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นงานสำคัญในระดับประเทศ เพราะการเจรจาการค้าในเวทีต่างๆ ถือเป็นท่าทีของประเทศที่จะต้องไปเจรจาหารือกับคู่ค้า คู่เจรจา จะผิดพลาดไม่ได้
โดยงานสำคัญที่จะต้องดำเนินการนับจากนี้ เช่น การเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปก ในส่วนของการเจรจาด้านการค้า ซึ่งมีกำหนดประชุมทั้งระดับเจ้าหน้าที่ ระดับรัฐมนตรี และการเตรียมประเด็นด้านเศรษฐกิจเพื่อเสนอต่อผู้นำเอเปก การประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่คงค้าง เช่น ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา และ FTA ฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการเปิดเจรจา เช่น ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) และอาเซียน-แคนาดา รวมถึงการศึกษาทำ FTA ใหม่กับประเทศที่อยู่ในเป้าหมายตามข้อเสนอเอกชน เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา
นอกจากนี้ ยังต้องขับเคลื่อนภารกิจการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในกรอบของอาเซียน องค์การการค้าโลก (WTO) การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ระหว่างไทยกับคู่เจรจา ซึ่งมีกำหนดต่อเนื่องตลอดทั้งปี อีกด้านต้องนำผลการเจรจาลงสู่ภาคปฏิบัติด้วยการชี้โอกาสจาก FTA ให้เข้าถึงกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อให้มีการเตรียมการใช้ประโยชน์ รวมไปถึงการผลักดันการจัดตั้งกองทุน FTA ที่จะนำมาใช้ในการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า
ประชุมเอเปกฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19
ทั้งนี้ งานเร่งด่วนที่นางอรมนจะต้องเตรียมดำเนินการ ก็คือ การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (MRT) ในวันที่ 19-22 พ.ค. 2565 โดยมีนายจุรินทร์เป็นประธานการประชุม ซึ่งไทยจะใช้โอกาสนี้ในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญที่ไทยต้องการผลักดันในช่วงการเป็นเจ้าภาพ คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Model) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูการท่องเที่ยว การผลักดันการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม รวมถึงการขับเคลื่อนการค้าการลงทุน การเปิดการค้าเสรี การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล การส่งเสริมแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร
นอกจากนี้ ไทยจะให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการค้า การลงทุน หลังยุคโควิด-19 ให้รองรับรูปแบบการค้าใหม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เผชิญกับการแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา การอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีน สินค้าจำเป็น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของสมาชิกเอเปก
ชง กนศ.เปิดทางเจรจา FTA ไทย-เอฟตา
ภารกิจถัดมาที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ การนำกรอบการเจรจา FTA-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) เสนอนายจุรินทร์ พิจารณาเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมีมติเห็นชอบ หลังจากที่ได้มีการจัดประชุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำกรอบการเจรจา FTA เสร็จแล้ว
นางอรมนกล่าวว่า หาก กนศ. และ ครม.เห็นชอบ กรมฯ จะประสานแจ้งไปยังสมาชิกเอฟตาเพื่อทราบ และเข้าสู่กระบวนการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-เอฟตาต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะประกาศเปิดการเจรจากันได้ช่วงการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ช่วงเดือนมิ.ย. 2565 ที่นายจุรินทร์ ในฐานะรัฐมนตรีการค้าของไทย กับรัฐมนตรีการค้าของเอฟตาจะมาประชุม WTO ในช่วงนั้น
สำหรับความสำคัญของเอฟตา มีสมาชิกประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ โดยเป็นกลุ่มที่มีนโยบายการค้าเสรี มีกำลังซื้อสูง มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และเป็นนักลงทุนที่สำคัญ
นอกจากนี้ ผลการศึกษาที่กรมฯ ได้ทำไว้ พบว่าการทำ FTA ไทย-เอฟตาจะช่วยเพิ่มแต้มต่อและโอกาสทางการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยในตลาดเอฟตา และดึงดูดนักลงทุนจากกลุ่มเอฟตามาไทยในสาขาที่เอฟตามีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะสาขาที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง
ชงอัปเกรด FTA อาเซียน-คู่เจรจา
ขณะเดียวกัน นางอรมนยังอยู่ระหว่างการเสนอนายจุรินทร์ พิจารณาเสนอกรอบการเจรจาอัปเกรด FTA อาเซียน และอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ให้ กนศ. พิจารณา และเสนอ ครม.มีมติเห็นชอบกรอบการเจรจาด้วย หลังจากที่ได้มีการดำเนินการประชุมหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นมาแล้ว
โดยการอัปเกรด FTA กรอบอาเซียนเพราะความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2553 และการอัปเกรด FTA ที่ทำกับคู่เจรจา เพราะบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2548-2553 ถือว่านานเกิน 10 ปี จึงต้องมีการทบทวนปรับปรุงให้ทันสมัย และสอดคล้องกับรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต
นางอรมนกล่าวถึงการอัปเกรด FTA ว่า ในการหารือทบทวน FTA กรอบอาเซียนและคู่เจรจา จะเป็นโอกาสให้ไทยได้หารือกับประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อให้เปิดตลาด ลดและยกเว้นภาษีศุลกากรเพิ่มเติมในรายการสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศคู่ค้ายังไม่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีจากไทยครบทั้ง 100% จึงต้องพยายามผลักดันให้มีการเปิดเสรีทั้ง 100% รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการของไทย
เดินหน้าเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา
นางอรมนกล่าวว่า ภารกิจที่จะต้องขับเคลื่อนอีกภารกิจหนึ่ง ก็คือ การเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา โดยล่าสุดคณะกรรมการการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา ได้มีมติตั้งคณะกรรมการเจรจาการค้า (TNC) ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสของสมาชิกอาเซียนและแคนาดา ทำหน้าที่เจรจา FTA และยังได้ตั้งคณะทำงาน 5 กลุ่ม ได้แก่ ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และกฎหมายและการจัดการเชิงสถาบัน เพื่อเจรจารายละเอียดเป็นรายกลุ่ม โดยอาจมีการตั้งกลุ่มเพิ่มหากมีความจำเป็น
โดยปีนี้ อาเซียน-แคนาดามีแผนจัดประชุมเจรจากัน 4 ครั้งเพื่อความรวดเร็ว และตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 2566
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเรื่องการจัดกิจกรรมสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ทางเทคนิค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเจรจา โดยที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายมีการจัดสัมมนาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การค้าดิจิทัล และแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบแล้ว
ดัน FTA คงค้าง ตุรกีเห็นแววปิดดีล
สำหรับ FTA ที่คงค้างการเจรจาที่ถือเป็นภารกิจต่อเนื่อง นางอรมนกล่าวว่า มีอยู่ 3 ฉบับ คือ ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา โดยที่มีความคืบหน้ามากที่สุด คือ กรอบไทย-ตุรกี ซึ่งขณะนี้ไทยได้กำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบที่ 8 ในเดือน มิ.ย. 2565 โดยจะเน้นหารือเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การลด และยกเลิกภาษีนำเข้า และการเจรจาจัดทำข้อบทความตกลงที่ยังค้างอยู่ เพื่อให้การเจรจาคืบหน้า และได้ข้อสรุปโดยเร็ว พร้อมทั้งเตรียมวางแผนการเจรจารอบที่ 9 ในช่วงไตรมาสที่ 3 และรอบที่ 10 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
“ที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ทำให้การประชุมติดขัด ไม่สามารถเดินทางไปมาได้ ไทยและตุรกีจึงต้องปรับรูปแบบการประชุมเจรจาผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อให้การเจรจามีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และยังตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้” นางอรมนกล่าว
ส่วน FTA ไทย-ปากีสถาน ปัจจุบันการจัดทำรายละเอียดของความตกลงใกล้เสร็จแล้ว คงเหลือในส่วนของการเปิดตลาด ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างนัดหมายปากีสถาน และ FTA ไทย-ศรีลังกาก็ยังอยู่ในแผน แต่ต้องรอฝ่ายศรีลังกาพร้อม หากพร้อมก็จะเดินหน้าต่อทันที
FTA กับอียู-อังกฤษ-EAEU อยู่ในแผน
ทางด้าน FTA ที่จะเปิดเจรจาใหม่ และเป็นหนึ่งในภารกิจที่นางอรมนจะต้องผลักดัน ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่ม และต้องทำให้นับหนึ่งให้ได้ ได้แก่ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-สหราชอาณาจักร และไทย-EAEU ซึ่งประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน ก็ยังจะเดินหน้าต่อ โดยกับอียู และสหราชอาณาจักรยังอยู่ในกระบวนการเตรียมการเจรจา EAEU ก็เช่นเดียวกัน แต่อาจจะต้องชะลอไปก่อน เพราะตอนนี้รัสเซียอยู่ในช่วงเกิดความขัดแย้งกับยูเครน
ศึกษาทำ FTA กับประเทศใหม่
อีกภารกิจสำคัญที่นางอรมนต้องริเริ่ม เพราะเป็นข้อเสนอของภาคเอกชนที่อยากให้ไทยทำ FTA กับกลุ่มประเทศ โดยมีกลุ่มประเทศเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา โดยเอกชนมองว่าถ้ามี FTA จะช่วยเปิดตลาดการค้า การค้าบริการ และการลงทุนของไทยกับประเทศเหล่านี้ได้อีกมาก
“กลุ่มประเทศเหล่านี้ เอกชนมองว่าถ้าไทยทำ FTA ด้วยจะสร้างโอกาสให้แก่ไทยได้อีกมาก อย่างตะวันออกกลาง เขารวมตัวกันเป็นกลุ่ม GCC (กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ) หรือแอฟริกา มีสหภาพศุลกากร และละตินอเมริกา มีกลุ่มความร่วมมือ ถ้าเจาะเข้าไปได้ ไปทำ FTA ได้ ก็จะเกิดประโยชน์แก่ไทย และเป็นไปตามนโยบายนายจุรินทร์ที่ต้องการให้ไทยเปิดเจรจาทำ FTA ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายการค้า การค้าบริการ และการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย” นางอรมนกล่าว
ใช้เวที JTC แก้ไขอุปสรรค-ขยายการค้า
นอกเหนือจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นางอรมนยังมีภารกิจที่จะต้องขับเคลื่อนอีก ก็คือ การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Joint Trade Committee : JTC) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า และกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า โดยในปีนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC กับประเทศคู่ค้าอย่างน้อย 10 ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลีใต้ รัสเซีย ยูเครน สหราชอาณาจักร ภูฏาน และมัลดีฟส์ และเข้าร่วมการประชุม JTC ที่ประเทศคู่ค้าเป็นเจ้าภาพ เช่น จีน บังกลาเทศ เป็นต้น
“การประชุม JTC จะเป็นโอกาสดีที่ระดับนโยบายของไทยกับคู่ค้าจะได้หารือกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน เพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้า และแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยการประชุม JTC แรก ก็คือ ไทย-ภูฏาน กำหนดจัดวันที่ 27-28 เม.ย. 2565 ซึ่งจะเน้นการเพิ่มความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และอื่นๆ” นางอรมนกล่าว
ผลักดัน FTA ลงสู่ภาคปฏิบัติ
ภารกิจสุดท้าย ที่เป็นภารกิจต่อเนื่องจากการเจรจา FTA ก็คือ การแปลงผลความสำเร็จจากการเจรจา FTA ไปสู่ภาคปฏิบัติจริง โดยนางอรมนกล่าวว่า ปีนี้มีแผนที่จะลงพื้นที่เพื่อไปพบปะกับเกษตรกร และกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อไปบอกไปกล่าว และแจ้งโอกาสและลู่ทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการทำตลาดต่างประเทศ เพราะ FTA ได้มีการลดภาษีนำเข้า ลดอุปสรรคทางการค้า ทำให้สินค้าไทย ที่ใช้ FTA จะมีแต้มต่อ และขยายตลาดสู่ตลาดต่างประเทศได้
ทั้งนี้ จะดำเนินการไปพร้อมๆ กับการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการไทย โดยจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA แบบถาวร ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อให้มีกองทุนที่จะเข้ามาช่วยดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า