กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าผู้ส่งออกไทย เจาะตลาดสินค้าที่มีส่วนผสมของ “โพรไบโอติกส์” ขายผู้บริโภคชาวจีน หลังผลสำรวจพบมีความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค แนะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้า และปฏิบัติตามกฎระเบียบให้ถูกต้อง
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ โดยกรมฯ ได้รับรายงานจาก น.ส.นันท์นภัส งามแม้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ถึงการขยายตัวของสินค้าที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกส์ ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยพบว่า มีแนวโน้มสดใส และกำลังได้รับความนิยม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนที่รักสุขภาพ
ทั้งนี้ จากการสำรวจของบริษัท IPS ที่ปรึกษาทางด้านข้อมูลทางการค้าของจีน พบว่า ผู้บริโภคชาวจีนที่สนใจเกี่ยวกับโพรไบโอติกส์ส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 เป็นกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 20-39 ปี และหากพิจารณาตามเพศ จะพบว่า ผู้บริโภคชาวจีนเพศหญิงมีความสนใจในโพรไบโอติกส์มากกว่าเพศชาย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.65 ขณะเดียวกัน จากข้อมูลสถิติการสำรวจของศูนย์วิจัยการตลาดชั้นนำของโลก Ipsos พบว่า 3 สาเหตุหลักที่ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่นิยมเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ ได้แก่ ความต้องการในการเสริมสร้างสุขภาพลำไส้ที่ดี การควบคุมน้ำหนักตัว และการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มโพรไบโอติกส์ที่มียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในตลาดจีน ได้แก่ โยเกิร์ต และเครื่องดื่มนมที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกส์มีชีวิต โดยผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตในท้องตลาดมีการพัฒนานวัตกรรมแตกย่อยออกมาเป็นเทรนด์ใหม่ ๆ ที่หลากหลายและน่าจับตามอง อาทิ น้ำหมักผักผลไม้เครื่องดื่มโปรตีนจากพืชสูตรหมัก เป็นต้น และยังพบว่า ผู้บริโภคชาวจีนนิยมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มโพรไบโอติกส์ที่มีบรรจุภัณฑ์แปลกใหม่ พกพาสะดวก และมีนวัตกรรมในเชิงสร้างสรรค์ อาทิ ผงโพรไบโอติกส์ชงดื่มกลิ่นแครนเบอร์รี่สำหรับผู้หญิงในขวดสีชมพูแบรนด์ Wonderlab ขนมเยลลี่โพรไบโอติกส์รสบลูเบอร์รี่แบบซองแบรนด์ Dyesoo และผงโพรไบโอติกส์ฟรีซดราย แบรนด์ Bayer
นอกจากนี้ แบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มโพรไบโอติกส์ต่าง ๆ ยังมีแนวโน้มคิดค้นและเพิ่มฟังก์ชั่น เพื่อสุขภาพอื่น ๆ เข้าไปผสมผสานกลายเป็นผลิตภัณฑ์สูตร โพรไบโอติกส์พลัส (+) หรือผสมสารอาหารำคัญอื่นๆ ที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น และทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น อาทิ สูตรโพรไบโอติกส์ผสมวิตามินซี สูตรโพรไบโอติกส์ผสมคอลลาเจน สูตรโพรไบโอติกส์ผสมเรตินอล เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า สินค้าอุปโภคบริโภคสูตรโพรไบโอติกส์ในตลาดจีน ก็มีแนวโน้มที่เน้นตอบโจทย์เฉพาะทางตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์สำหรับช่องปาก ได้แก่ ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก สเปรย์ดับกลิ่นปาก และผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ดูแลสุขภาพสตรี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขอนามัยจุดซ่อนเร้น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น
นายภูสิตกล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เห็นว่าตลาดสุขภาพของจีนกำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ และในด้านของการนำเอาโพรไบโอติกส์ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น จึงนับเป็นโอกาสทางการค้าในจีนสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยนำโพรไบโอติกส์มาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างจุดขาย และเพิ่มสรรพคุณของสินค้าให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนในแต่ละกลุ่มได้มากกว่าเดิม เพื่อสามารถเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพในเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ กลุ่มผู้บริโภคเพศหญิง กลุ่มผู้บริโภควัยหนุ่มสาว และกลุ่มตลาดผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยของสินค้าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรพึงระวัง โดยเฉพาะสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม โดยควรปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของจีนสำหรับสินค้าในห่วงโซ่ความเย็นอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัส และขจัดอุปสรรคทางการค้าในการบุกตลาดจีน ตลอดจนควรศึกษาและอัพเดตกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนและถูกต้องอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงตามมาตรฐานที่จีนกำหนด และเจาะตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โดยประเด็นกฎระเบียบที่ควรให้ความสำคัญสำหรับสินค้าอาหารและเครื่องดื่มโพรไบโอติกส์ ได้แก่ 1.ระเบียบมาตรฐานสำหรับสินค้าอาหารโพรไบโอติกส์ในจีน อาทิ ปริมาณจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์มีชีวิตในสินค้าอาหารต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 107 CFU/g และข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับของเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ 2.สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมและผลิตภัณฑ์จากนมมายังจีน จะต้องทำการจดทะเบียนกับทางศุลกากรจีน 3.ชนิดของโพรไบโอติกส์ที่จีนอนุญาตให้ใช้สำหรับการผลิต อาทิ โพรไบโอติกส์ที่อนุญาตให้ใช้สำหรับการผลิตอาหาร อาหารเสริม และอาหารสำหรับเด็กทารก เป็นต้น
ปัจจุบัน ธุรกิจโพรไบโอติกส์ในจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเภทของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ครอบคลุมสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค ยา ตลอดจนผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์เพื่อการเกษตร และยังเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนในแต่ละวัยมากขึ้น โดยมูลค่าตลาดโพรไบโอติกส์ของจีนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 คิดเป็นมูลค่า 55,300 ล้านหยวน (ประมาณ 276,500 ล้านบาท) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 88,000 ล้านหยวน (ประมาณ 440,000 ล้านบาท) ในปี 2563 ซึ่งมีอัตราการเติบโตต่อปี คิดเป็นร้อยละ 16.75 ขณะที่บริษัท Sinohealth ผู้ให้บริการข้อมูลทางการแพทย์ของจีนคาดการณ์ว่า ในปี 2566 ตลาดโพรไบโอติกส์ของจีนจะมีมูลค่าราว 117,100 ล้านหยวน (ประมาณ 585,500 ล้านบาท)