xs
xsm
sm
md
lg

จุดพลุตั๋วร่วม!BEM ใช้บัตร EMV เต็มรูปแบบ มิ.ย.นี้ คาดปี 65 ทางด่วนจราจรฟื้น-ผู้โดยสารสีน้ำเงินรีเทิร์น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



BEM ลุยพัฒนา EMV รถไฟฟ้า MRT เปิดใช้เต็มรูปแบบ มิ.ย. 65 ทั้ง "เครดิต-เดบิต" แตะผ่านสะดวก "ใช้ก่อน จ่ายทีหลัง" เร่งแผนโปรโมต "ระบบตั๋วร่วม" คาดปี 65 จราจรทางด่วนฟื้นแตะ 1 ล้านคัน/วัน ผู้โดยสารรีเทิร์น ลุ้นเปิดศูนย์สิริกิติ์โฉมใหม่กระตุ้นครึ่งปีหลัง  

นางสาวปาหนัน โตสุวรรณถาวร รองกรรมการผู้จัดการ บัญชีและการเงิน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบตั๋วร่วมบริการหรือบัตร EMV (Europay Mastercard and Visa) ในการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าและค่าผ่านทางด่วน ว่า BEM ได้พัฒนาระบบตั๋วร่วม EMV เพื่อชำระค่าบริการระบบขนส่งแทนเงินสด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ และถือเป็นการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการบริการเพื่อรองรับสังคมไร้เงินสด เนื่องจากระบบ EMV คือการใช้บัตรเดบิตและบัตรเครดิตทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์ Contactless แตะ-จ่าย ได้สะดวก และยังเลี่ยงการสัมผัสการเดินทางวิถีใหม่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย 

โดยได้มีการใช้ระบบ EMV ในการจ่ายค่าผ่านทาง ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (SOE) ในปี 2564 และต่อมาได้มีการเปิดตัวระบบ EMV อย่างเป็นทางเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 โดยให้บริการครบทั้ง 5 สายทาง ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้)  โดยด่านเก็บค่าผ่านทางที่เป็นช่องเงินสด สามารถใช้บัตรเครดิต หรือเดบิต ชำระแทนการจ่ายเงินสดได้ทุกด่าน ทุกสายทาง โดยปัจจุบันมีผู้ใช้ทางด่วน ชำระค่าผ่านทางด้วยบัตร EMV สัดส่วนประมาณ 2% เมื่อเทียบกับจำนวนปริมาณจราจรบนทางด่วนประมาณ 1 ล้านคันต่อวัน 

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการใช้บัตร EMV จ่ายค่าผ่านทางยังมีสัดส่วนไม่มาก ขณะที่การใช้เงินสดกับบัตร EASY PASS มีสัดส่วน 50-50 ซึ่งเป้าหมายคือ ต้องการให้มีผู้ใช้ EMV เพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการทำประชาสัมพันธ์เพิ่มเพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้ทาง โดยข้อดีของการใช้บัตร EMV เช่น นอกจากมีความสะดวก รวดเร็ว ในการผ่านทางแล้ว ยังลดการสัมผัสเพราะไม่ต้องใช้เงินสด อีกทั้งยังเป็นการ "ใช้ก่อน...จ่ายทีหลัง" และยังมีผลตอบแทนคืนในรูปเครดิตเงินคืน (Cash Back) และแต้มสะสม (Reward) ตามที่ธนาคารเจ้าของบัตรกำหนดอีกด้วย ส่วนเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้ทางยังไม่จ่ายค่าผ่านทางด้วยบัตร EMV อาจเป็นเรื่องของความมั่นใจ ความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งเป็นโจทย์ที่บริษัทฯ จะต้องทำให้ผู้ใช้ทางเกิดความมั่นใจว่าระบบ EMV ชำระค่าผ่านทางด่วนมีความปลอดภัย   

@ผู้โดยสารรถไฟฟ้าเริ่มใช้ EMV คาด มิ.ย. 65 เปิดตัวทางการใช้ได้ทั้ง "บัตรเครดิต-เดบิต"

สำหรับการพัฒนาระบบ EMV ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงินนั้น BEM ดำเนินการปรับปรุงและติดตั้งระบบที่ประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติภายในสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงเพื่อรองรับการชำระค่าโดยสารผ่านบัตร EMV Contactless ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความ สะดวก รวดเร็วให้แก่ผู้โดยสาร โดย BEM ได้มีการจัดหาระบบและติดตั้งหัวอ่านบริเวณประตูอัตโนมัติ พร้อมทั้งปรับปรุงอุปกรณ์ และระบบ network เพื่อให้รองรับการใช้บัตร EMV Contactless รวมทั้งสิ้น 53 สถานี และได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในวันที่ 29 ม.ค. 2565    

นางสาวปาหนันกล่าวว่า ในช่วงการทดลองระบบ EMV Contactless นั้น จะรองรับบัตรเครดิตวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ดของธนาคารทุกธนาคาร ส่วนบัตรเดบิต อยู่ระหว่างพัฒนาระบบคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดตัวใช้อย่างเป็นทางการพร้อมกันทั้งบัตรเครดิตและเดบิตในเดือน มิ.ย. 2565 และถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของระบบตั๋วร่วม เนื่องจากบัตร EMV ซึ่งเป็นบัตรเครดิต หรือเดบิตนั้น เป็นบัตรที่ใช้สำหรับการชำระค่าบริการ ค่าสินค้าทั่วไปอยู่แล้ว แต่วันนี้สามารถนำมาชำระค่าเดินทาง ทั้งค่าทางด่วน ค่าโดยสารรถไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังสามารถชำระค่าโดยสารรถ ขสมก. เรือโดยสารไฟฟ้าได้อีกด้วย 

“แนวโน้มหลังเริ่มทดลองใช้บัตร EMV ในรถไฟฟ้า ปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเกือบ 2% แล้ว ซึ่งพบว่าผู้โดยสารหลายคนเปลี่ยนมาใช้บัตร EMV เนื่องจากมีความสะดวก เพราะมีบัตรอยู่แล้ว ไม่ต้องเติมเงินหรือซื้อบัตรใหม่” 

สำหรับระบบ EMV รถไฟฟ้าจะมีความซับซ้อนมากกว่า EMV ของทางด่วน  เนื่องจากทางด่วนมีค่าผ่านทางคงที่เมื่อแตะบัตรขาเข้าระบบจะคำนวณค่าผ่านทางได้เลย แต่สำหรับรถไฟฟ้านั้น เมื่อแตะบัตร EMV ขาเข้า ระบบจะยังไม่คำนวณค่าโดยสารเพราะต้องรอแตะบัตรออกก่อนเพราะคิดค่าโดยสารตามระยะทาง นอกจากนี้ ยังมีการเดินทางข้ามสายทาง หรือรถไฟฟ้าข้ามสี ซึ่งจะต้องมีระบบคำนวณเพื่อแบ่งค่าโดยสารของแต่ละสาย โดยเรื่องนี้ภาครัฐจะทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ต่อไป  

@คาดปี 65 ทางด่วน-รถไฟฟ้าสีน้ำเงินฟื้นตัว  

นางสาวปาหนันกล่าวว่า ในส่วนของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระนั้น มีการทดลองเดินรถเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2562 ซึ่งพบว่าจำนวนผู้โดยสารสีน้ำเงินตลอดสายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 400,000 คนต่อวัน และเคยสูงสุดถึง 500,000 คนในบางวัน ซึ่งเมื่อมีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบและจัดเก็บค่าโดยสารในวันที่ 30 มี.ค. 2563 ปรากฏว่าเกิดโรคโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงไปกว่า 40% เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ ประชาชนชะลอการเดินทาง ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ตัวเลขผู้โดยสาร MRT สายสีน้ำเงินได้  

โดยในปี 2564 ผู้โดยสารลดลงไปถึง 40% เหลือ 150,000 คนต่อวัน สำหรับปี 2565 คาดหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น สถานการณ์โควิดรุนแรงน้อยลง มีการเปิดประเทศ และคาดว่ารัฐบาลประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น โดยในเดือน ก.พ. 2565 พบว่าวันจันทร์-ศุกร์ ผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 200,000 กว่าคน ส่วนเดือนมี.ค. 2565 ผู้โดยสารลดลงมาจากหลายปัจจัย รวมถึงเป็นช่วงปิดเทอม โดยคาดการณ์ว่าเดือน พ.ค.จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และโดยรวมทั้งปี 2565 ผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 250,000 คนต่อวัน ดีกว่าปี 2564 แน่นอน    

ส่วนปริมาณจราจรบนทางด่วน เมื่อปี 2564 มีประมาณ 850,000 คันต่อวัน หรือลดลง 20% จากช่วงก่อนเกิดโควิด แต่ขณะนี้ปริมาณจราจรกลับมาอยู่ที่เกือบ 1 ล้านคันต่อวัน จึงเชื่อว่าเราได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วคือเมื่อปี 2564 และคาดว่าปริมาณจราจรจะมีการเติบโตกลับไปอยู่ที่ 1.2 ล้านคันต่อวัน เท่ากับปี 2563   

@รายได้เชิงพาณิชย์โต หนุนผลประกอบการ  

สำหรับรายได้เชิงพาณิชย์ของ BEM ในปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาทซึ่งไม่ลดลงแต่อย่างใด เนื่องจากมีการพัฒนาปรับปรุงนำเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินงาน ทำให้เพิ่มมูลค่าและรายได้ เช่น ในพื้นที่โฆษณาขนาดเท่าเดิม มีการใช้จอ LED เกิดไดนามิกสามารถรองรับลูกค้าได้มากกว่า 1 ราย รวมถึงการทำโปรเจกต์ใหม่ๆ กับพาร์ตเนอร์รายใหญ่ เป็นต้น ขณะที่มีการเยียวยากับผู้เช่าพื้นที่ต่างๆ ตามมาตรการผลกระทบโควิดด้วย  

@เปิด "ศูนย์ฯ สิริกิติ์" โฉมใหม่กระตุ้นเดินทางครึ่งปีหลัง  

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 คาดว่ารายได้เชิงพาณิชย์มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะมีหลายกิจกรรมเกิดตามแนวเส้นทาง MRT สีน้ำเงิน เช่น เปิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือ QSNCC เต็มรูปแบบในเดือน ก.ย. และเป็นสถานที่จัดงาน APEC 2022 ในเดือน พ.ย. คาดว่าจะส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสาร MRT อย่างแน่นอน 

สำหรับสถานี MRT ที่มีผู้ใช้บริการสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. สถานีสุขุมวิท 2. สถานีสวนจตุจักร 3. สถานีเพชรบุรี 4. สถานีพระราม 9 และ 5. สถานีสีลม ซึ่งจะเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับศูนย์ธุรกิจ ศูนย์การค้า และเชื่อมกับระบบขนส่งอื่นทั้งรถไฟฟ้าและท่าเรือ   

 



นางสาวปาหนัน โตสุวรรณถาวร รองกรรมการผู้จัดการ บัญชีและการเงิน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM








กำลังโหลดความคิดเห็น