สมาคมผู้ค้า LPG โอดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้การจำหน่าย LPG ภาพรวมลดลงกว่า 10% รับอนาคตธุรกิจร้านจำหน่ายที่เป็นรายย่อยอยู่ยากเจอสารพัดทั้งแรงงานขาดแคลน ระเบียบรัฐคุมเข้ม ขณะที่การขึ้นราคา LPG 1 บาท/กก.หรือ 15 บาท/ถังในเดือน เม.ย.ชี้คนไทยรับได้ ขณะที่เดือน พ.ค.และ มิ.ย.จ่อขึ้นอีกเดือนละ 1 บาท/กก. เชื่อว่าคนไทยต้องยอมรับสภาพ
นายสุรศักดิ์ อยู่คงพัน นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนทำให้ขณะนี้ภาพรวมตลาดค้าปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) มียอดตกต่ำเฉลี่ยกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา และแนวโน้มร้านจำหน่าย LPG รายย่อยโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นคงจะไม่มีเนื่องจากค่าการตลาดต่ำ หากเทียบกับต้นทุนต่างๆ ที่สูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกันกฎระเบียบจากรัฐก็ไม่อำนวยสำหรับธุรกิจร้านจำหน่าย LPG มากนัก
“ร้านจำหน่าย LPG ที่ไม่ใช่ผู้ค้ารายใหญ่ขณะนี้คงประคองตัวให้อยู่รอดมากกว่า เพราะอนาคตคาดว่าผู้ค้ารายใหญ่จะลงมาเล่นในตลาดนี้มากขึ้นโดยเฉพาะการจำหน่าย LPG ในภาคขนส่งที่เริ่มเห็นชัดเจนแล้ว โดยหากเทียบร้านค้า LPG ขณะนี้ก็เหมือนกับร้านโชว์ห่วยที่ไม่มีใครอยากทำ เพราะที่สุดก็ไม่อาจสู้รายใหญ่ได้ยกเว้นร้านดั้งเดิมที่อาจจะมีทำเลดีแต่กำไรที่ไม่ได้มากก็อาจนำพื้นที่ไปทำอย่างอื่นดีกว่าในรุ่นต่อไป” นายสุรศักดิ์กล่าว
ปัจจุบันร้านจำหน่าย LPG ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากคนไทยไม่ทำงานลักษณะแบกหามต้องพึ่งพิงแรงงานจากต่างด้าวเป็นหลัก และจากผลกระทบโควิด-19 แรงงานส่งก๊าซก็หายากมากขึ้นเพราะแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งก็กลัวการติดเชื้อ ขณะเดียวกันประชาชนคนไทยเองก็กลัวการติดเชื้อจากแรงงานเหล่านี้เช่นกัน ทำให้แม้จะจ่ายค่าแรงที่สูงขึ้นก็ไม่ได้หมายถึงจะมีแรงงานเข้ามาทำงานมากนักหากเลือกงานได้แรงงานเหล่านี้จะไปทำในโรงงานมากกว่า
นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงานยังกำหนดกฎกระทรวงเรื่องสถานที่เก็บรักษา LPG ประเภทร้านจำหน่ายพ.ศ. 2564 ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2565 ก็ไม่เอื้ออำนวยมากนักโดยเฉพาะกับร้านค้ารายย่อยที่จะเกิดใหม่ เพราะรัฐกำหนดให้ร้านประเภทตึกแถว-อาคารพาณิชย์ต้องมีหนังสือยินยอมจากห้องข้างเคียงที่อยู่ติด โดยต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินที่เป็นที่ตั้งของตึกแถวข้างเคียงที่มีผนังร่วมกัน (ทั้งข้างซ้ายและข้างขวาของร้านจำหน่าย LPG) และต้องมีผลจนกว่าจะเลิกประกอบกิจการร้านจำหน่าย LPG รวมถึงร้านจำหน่ายจะต้องมีการติดตั้งระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยแบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงที่สามารถฉีดน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่เก็บถังก๊าซ LPG หรือกระป๋องก๊าซ LPG เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ เหล่านี้ล้วนทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น
สำหรับการปรับขึ้นราคา LPG ล่าสุดอีก 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)หรือ 15 บาทต่อถัง 15 กก. มีผลตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมาทำให้ราคาขายปลีกปรับจาก 318 บาทต่อถัง 15 กก.เป็น 333 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในเดือนเมษายนนั้นประชาชนไม่มีการร้องเรียนแต่อย่างใด ชี้ให้เห็นว่าประชาชนนั้นคงจะยอมรับได้เนื่องจากส่วนหนึ่งคาดว่าราคาสินค้าต่างๆ ได้ขยับราคากันไปพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนรัฐมีแผนจะปรับขึ้นอีกเดือนละ 1 บาทต่อ กก. ซึ่งจะทำให้ราคาขยับไปแตะสูงสุดที่ 363 บาท/ถัง ในเดือนมิถุนายนก็เข้าใจว่าประชาชนได้รับรู้ล่วงหน้าไปแล้วก็คงต้องยอมรับกับสภาพที่จะเกิดขึ้น
“เวลานี้ LPG ไม่ใช่สินค้าควบคุมแต่ร้านค้าจะต้องติดประกาศราคาแนะนำ ส่วนค่าขนส่งก็ให้คิดตามระยะทางซึ่งก็ต้องเข้าใจบางครั้งต้องขนขึ้นอาคารหลายชั้นที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร การที่รัฐจะมาตรวจเข้มข้นก็เข้าใจได้แต่อยากจะแนะนำให้ไปตรวจสินค้าอื่นๆ ที่มีการขึ้นราคาไปเกินกว่าที่ควรจะเป็น” นายสุรศักดิ์กล่าว