“สุพัฒนพงษ์” ลงนามประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศจากเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม คาดเม็ดเงินลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาทหากสำรวจพบปิโตรเลียม
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ (8 เม.ย.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามในประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) โดยคาดว่าจะสามารถประกาศผลผู้ได้รับสิทธิฯ ได้ภายในปี 65 และจะส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านการจ้างงานภายในประเทศ สร้างรายได้เข้ารัฐ และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นกว่า 1,500 ล้านบาทหากสำรวจพบปิโตรเลียม
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และเร่งรัดการจัดหาพลังงาน โดยการส่งเสริมและเร่งรัดการสำรวจและพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติในประเทศ ได้ดำเนินการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 บริเวณทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับแนวท่อก๊าซที่มีอยู่เดิมและอยู่ใกล้กับพื้นที่ผลิตหลัก ที่ปัจจุบันมีการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่อไปได้
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่โปร่งใส ซึ่งภายหลังจากการลงนามประกาศเชิญชวนฯ ในวันนี้ (8 เมษายน 2565) แล้ว จะประชาสัมพันธ์ให้บริษัทผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมที่สนใจเข้าร่วมการประมูลและมีการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนผ่านทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยบริษัทที่สนใจสามารถดาวน์โหลดประกาศเชิญชวนและเงื่อนไขต่างๆ ได้จากทั่วโลก พร้อมทั้งเปิดห้อง Data room ให้บริษัทต่างๆ เข้าศึกษาข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอการยื่นขอสิทธิฯ ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อพิจารณาคัดเลือกและนำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะดำเนินการประกาศผลผู้ชนะ และได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต่อไป
“ถือเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศอีกครั้ง หลังจากที่การเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศหยุดชะงักมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว และประโยชน์ที่ตามมานั้นไม่ใช่แค่ความมั่นคงด้านพลังงาน แต่หมายถึงความเชื่อมั่นของภาคการลงทุน การสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ สร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคงให้คนไทย รวมถึงการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตให้กับธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงภาคขนส่งอีกด้วย นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งจากการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ ในครั้งนี้ ประเทศจะมีทรัพยากรปิโตรเลียมเพื่อลดการนำเข้า สร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกล่าว