การแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ขาดแคลนและมีราคาพุ่งสูงขึ้นมากจากภาวะสงคราม หากปล่อยให้ยืดเยื้อไปกว่านี้ประเทศไทยจะสุ่มเสี่ยงกับผลกระทบด้านความมั่นคงทางอาหารที่อาจเกิดขึ้น
สัปดาห์ก่อน กรมการค้าภายในเรียกประชุม 4 ฝ่ายเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิก มาตรการ 3 : 1 เป็นการชั่วคราว ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจากความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในส่วนที่ขาด 1.5 ล้านตันนั้น มีมติให้สามารถนำเข้าข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ทั้งหมดทุกช่องทางได้ในช่วง 4 เดือนคือ เมษายน-กรกฎาคม 2565 โดย ราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์ต้องไม่ขยับมากไปกว่านี้ แต่หากปริมาณยังไม่เพียงพออีกก็สามารถปรับปรุงตัวเลขได้บนฐานข้อมูลที่ชัดเจน โดยให้มีคณะทำงาน 4 ฝ่าย ประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงสัตว์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมการค้าพืชไร่ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และวัตถุดิบทดแทนจากทุกช่องทาง เป็นรายสัปดาห์ ตลอด 4 เดือน รวมถึงอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO ในอัตราภาษี 0% ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน โดยสินค้าต้องถึงราชอาณาจักรไทย ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565
ในเบื้องต้น ถือว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินการสำหรับการจัดหาวัตถุดิบ ประเภทข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้จะยังต้องใช้เวลาอีกระยะในการดำเนินการจัดตั้งคณะทำงาน และต้องถือว่าในที่ประชุมมีความชัดเจนว่าราคาอาหารสัตว์จะไม่ขึ้นหากราคาต้นทุนวัตถุดิบไม่ขึ้น แต่ถ้าวัตถุดิบมีการขยับราคา ราคาอาหารสัตว์ก็จะขยับด้วย ซึ่งเป็นหลักการปกติที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ตรึงราคาขายแต่ปล่อยให้ราคาต้นทุนข้าวโพดและวัตถุดิบต่างๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างที่ผ่านมา
ขณะนี้ มาตรการ 3 : 1 ได้รับการยกเลิกชั่วคราวจนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 และควบคุมปริมาณไว้ที่ 1.5 ล้านตัน จากนี้ไปเป็นขั้นตอนของความรวดเร็วที่คณะทำงาน 4 ฝ่ายต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้วัตถุดิบต่างๆ มาถึงประเทศไทยให้ทันเวลาบรรลุวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ยังมีวัตถุดิบอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญ และยังไม่ได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหา นั่นก็คือ “กากถั่วเหลือง” ซึ่งจำเป็นต้องลดภาษีเป็น 0% เพื่อลดภาระต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์
แหล่งข่าวจากผู้เข้าร่วมประชุมในวันนั้นระบุว่า ยังคงมีบางคนไม่เข้าใจและเกรงว่าการนำเข้ากากถั่วเหลืองด้วยภาษี 0% จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขให้โรงงานอาหารสัตว์ต้องซื้อกากถั่วเหลืองที่ผลิตจากเมล็ดภายในประเทศให้หมดเสียก่อน ซึ่งในความเป็นจริง ประเทศไทยมีความต้องการใช้กากถั่วเหลืองถึง 4,800,000 ตัน แต่มีปริมาณในประเทศเพียง 20,000 ตัน จากถือว่าขาดแคลนอย่างหนักอยู่แล้ว ส่วนกากถั่วเหลืองอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ผลิตน้ำมันพืชผลิตจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าก็มีปริมาณเพียง 2 ล้านตัน ซึ่งอาหารสัตว์ก็รับซื้อมาโดยตลอด (แม้ไม่เข้าเงื่อนไขที่ต้องซื้อเพราะไม่ได้ปลูกโดยเกษตรกรไทย) กล่าวได้ว่า ผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองไม่เคยขายกากถั่วเหลืองไม่หมด จึงไม่มีอะไรน่ากังวลเลย ที่สำคัญ การเก็บภาษี 0% ก็เป็นไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น
นาทีนี้บ้านเมืองกำลังต้องการความเข้าใจและช่วยเหลือกัน เพื่อให้ประเทศเดินหน้ารักษาความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทุกคนในห่วงโซ่การผลิตอาหารจะอยู่รอดได้นั้น จำเป็นต้องร่วมกันฝ่าวิกฤตสถานการณ์ราคาวัตถุดิบและพลังงานในปัจจุบันไปให้ได้ คงไม่ยากถ้าจะทำความเข้าใจโดยแยกประโยชน์ส่วนตนเก็บไว้ก่อน และคำนึงถึงส่วนรวมและประเทศชาติให้มาก การแก้ปัญหาวัตถุดิบจะคืบหน้าแค่ครึ่งทางไม่ได้ บทสรุปของภาษีกากถั่วเหลืองจะเป็นอีกตัวแปรสำคัญของการแก้ปัญหานี้ ดังนั้น คณะทำงานชุดเล็กที่จะเข้ามาร่วมกันพิจารณาจำเป็นต้องแข่งกับเวลาเช่นกัน
โดย สมรรถพล ยุทธพิชัย