xs
xsm
sm
md
lg

“ทูตพาณิชย์ซิดนีย์” แนะผู้ส่งออกศึกษาทำตลาดกลุ่มผู้บริโภค Gen Y Gen Z ในออสเตรเลีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทูตพาณิชย์ซิดนีย์” แนะผู้ส่งออกไทยศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ในออสเตรเลีย เพื่อนำมาปรับใช้ในการวางแผนผลิตสินค้าและส่งออก ชี้สินค้าต่างประเทศที่มีความแปลกใหม่ และสินค้าที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนมีโอกาสสูง

น.ส.วรรณศรี โชติกะพุกกณะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย เปิดเผยถึงการติดตามโอกาสทางการค้าของไทยในตลาดออสเตรเลีย ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ว่า สำนักงานฯ ได้ติดตามทิศทางการบริโภคของชาวออสซี่ยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Millennials (Gen Y) และกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ (Gen Z) ที่มีสัดส่วนรวมกันมากกว่าร้อยละ 50 ของกลุ่มผู้บริโภคออสเตรเลียทั้งหมด พบว่านิยมซื้อสินค้าหรือบริการผ่านมือถือและชำระค่าสินค้าด้วยระบบ Afterpay และซื้อสินค้าจากสื่อโซเชียลและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลี่อนตลาดออสเตรเลียในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริการที่ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ Tiendeo (ผู้ให้บริการ Catalogues และ Deals Online Platform ผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์) ได้สรุปทิศทางพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่ม Millennials และผู้บริโภครุ่นใหม่ในออสเตรเลียปี 2565 ไว้จำนวน 10 รูปแบบ ได้แก่ 1. Environmentally friendly แบรนด์ที่ทำตลาด Eco-friendly, Sustainable และออร์แกนิกในกระบวนการผลิตจะได้รับความสนใจจากกลุ่ม Millennials และผู้บริโภครุ่นใหม่เป็นพิเศษ 2. Support local วิกฤตโควิด-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นให้กลุ่ม Millennials ซื้อสินค้าจากร้านค้าในท้องถิ่นมากขึ้น เนื่องจากต้องการช่วยเหลือภาคธุรกิจค้าปลีกในประเทศที่ได้รับผลกระทบ

3. กระแสรักชาติ (Patriotism) กลุ่ม Millennials นิยมซื้อสินค้าผลิตในท้องถิ่นเป็นหลัก เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น ยานยนต์ อาหาร การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม 4. Cruelty-free โดยเฉพาะสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ Personal care ควรตระหนักและชูประเด็นดังกล่าวในการทำตลาดออสเตรเลีย 5. Diversity & Inclusion แบรนด์สินค้าที่ทำการตลาดไม่แบ่งแยกและเคารพความเสมอภาคจะมีผลตอบรับที่ดี ในขณะที่แบรนด์สินค้าที่สื่อไปในทิศทางเลือกปฏิบัติหรือแบ่งแยกทางเพศจะถูกต่อต้าน 6. Saving time แบรนด์สินค้าและธุรกิจที่ทำตลาดโดยชูจุดเด่นด้านความสะดวกและช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น บริการจัดส่งที่รวดเร็ว บริการ Express Checkout มีโอกาสขยายตัวสูง

7. Nostalgic การทำตลาดแบบย้อนเวลา โดยดึงเอาความคลาสสิกในอดีตมาเป็นจุดขาย สามารถพิชิตใจกลุ่ม Millennials ได้ดี 8. การตลาดแบบ Omnichannel มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำตลาดออสเตรเลีย โดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่ม Millennials และผู้บริโภครุ่นใหม่ออสเตรเลีย อีกทั้งปัจจุบันกลุ่มผู้สูงอายุเริ่มเรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อความสะดวกในชีวิตประจำวันมากขึ้น 9. สินค้าจากต่างประเทศที่นำเสนอความแปลกใหม่ สามารถดึงดูดความสนใจของกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ในออสเตรเลียที่นิยมทดลองสินค้าใหม่ๆ จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำตลาดของแบรนด์สินค้าใหม่จากต่างประเทศ และ 10. Zero waste แบรนด์สินค้าหรือธุรกิจบริการที่มีกลยุทธ์การตลาดหรือนโยบายไปในทิศทางส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) เช่น Reduce, Reuse และ Recycle โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือสินค้าที่มีนโยบายส่งเสริมและช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะได้รับการตอบรับจากกลุ่ม Millennials และผู้บริโภครุ่นใหม่ออสเตรเลียเป็นอย่างดี

“ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยที่จะส่งออกมายังตลาดออสเตรเลียควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่ม Millennials และกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ถ่องแท้ ก็จะมีโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าต่างประเทศ ที่นำเสนอความแปลกใหม่ และสินค้าที่เน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน” น.ส.วรรณศรีกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น