เมื่อเราก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของการระบาดใหญ่ทั่วโลก ผลกระทบของ COVID-19 ยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค โดยพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคหันไปใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น
Nielsen ยังคงติดตามและสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในแง่มุมต่างๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยได้ทำการสำรวจข้อมูลผู้บริโภคแบบรอบทิศ 360 องศา หรือ Nielsen CMV( Nielsen Consumer Media View (CMV) เป็นการสำรวจแบบรอบทิศ 360 องศา ในทุกไตรมาสกับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปในประเทศไทย เป็นการสำรวจข้อมูลประชากร การบริโภคผลิตภัณฑ์ ทัศนคติ ไลฟ์สไตล์ การบริโภคสื่อ และพฤติกรรมการรับรู้แบรนด์ ฯลฯ ครอบคลุมการสำรวจมากกว่า 100 หมวดหมู่) กับกลุ่มตัวอย่างกว่า 9,000 คน เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะพฤติกรรมการชอปปิ้งออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ผู้บริโภคใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่สินค้าที่ผู้บริโภคซื้อออนไลน์ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
กลุ่มสินค้าที่คนไทยซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด
กลุ่มแฟชั่น (เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ) เป็นกลุ่มสินค้ายอดนิยมที่คนไทยซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เป็นอันดับ 1 ซึ่งโตจากปี ค.ศ. 2019 หรือปีก่อนการเริ่มการระบาดของ COVID-19 ถึง 206% รองลงมาคือกลุ่มสินค้าสะดวกซื้อ กลุ่มเครื่องสำอาง และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นกลุ่มยอดนิยมที่คนไทยมักซื้อผ่านช่องทางออนไลน์อยู่แล้ว
กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ โตสูงสุด
สินค้าเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะเสริมอาหารและวิตามิน เป็นกลุ่มสินค้าใหม่ที่ผู้บริโภคซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเติบโตจากปี 2019 ถึง 798% ปัจจัยหลักของการโตมาจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมรักสุขภาพมากขึ้น
กลุ่มสินค้าและบริการมาแรง - ร้านอาหารและแอปฯ สั่งอาหาร
Work from Home ส่งผลให้กลุ่มร้านอาหารและแอปฯ สั่งอาหารมาแรง มีอัตราการโตมากขึ้นในทุกปี โดยโตจากปี 2020 ถึง 647% นอกจากคนใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น ความสะดวก และรวดเร็ว ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไทยหันมาใช้บริการการสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
ตลาดโฆษณาดิจิทัลโตและคนไทยเชื่อมั่นในช่องทางดิจิทัลเทรนด์ของแบรนด์ในการใช้งบโฆษณาดิจิทัลมีมากขึ้น โดยข้อมูลจาก Nielsen Ad Intel ( Nielsen Ad Intel ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเม็ดเงินโฆษณาในช่องทางสื่อต่างๆ ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทย) งบโฆษณาในสื่อดิจิทัลโต 11% จากปี 2020 หลายอุตสาหกรรมมีการอัดเงินในช่องทางดิจิทัลโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าสะดวกซื้อ และกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า
นอกจากนี้ สิ่งที่ Nielsen พบคือโฆษณาผ่านดิจิทัลเป็นช่องทางที่ชาวเน็ตให้ความเชื่อถือ โดย 41% พิจารณาที่จะซื้อสินค้าที่เห็นจากโฆษณา และ 38% ซื้อสินค้าทันทีหลังจากเห็นโฆษณาในอินเทอร์เน็ต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่แบรนด์โฆษณาผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นช่องทางที่คนไทยยอมรับ
แต่สิ่งที่เป็นเรื่องท้าทายกับแบรนด์ในปัจจุบันคือ ทำอย่างไรให้โฆษณาที่เราปล่อยไปตรงทาร์เกตและถูกใจผู้บริโภค ในยุคที่มีข้อจำกัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือประเด็นอื่นๆ หลายแบรนด์มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวัดและระบุทาร์เกต รวมถึงการวัดผลโฆษณาดิจิทัล (Digital Ad Rating) ที่จะทำให้แบรนด์เห็นภาพทาร์เกตของโฆษณาที่เราปล่อยไปว่าตรงและคุ้มค่ากับเงินที่ลงหรือไม่ รวมถึงเข้าใจธรรมชาติของชาวเน็ตมากขึ้น