“สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธาน ส.อ.ท. แนะรัฐบาลปรับอนาคตอุตสาหกรรมไทยมุ่งเน้นส่งเสริมธุรกิจคนไทยให้มากขึ้นโดยเฉพาะเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการดึงจุดแข็งของประเทศที่มีอยู่แล้วสร้างนวัตกรรมรวมเพิ่มคุณค่าขับเคลื่อน ศก.เพื่อก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “FUTURE INDUSTRY อนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย” ภายใต้งานประชุมสามัญประจำปี 2565 และเลือกตั้งคณะกรรมการ ส.อ.ท.ว่า อนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย ไม่ใช่แค่การตามกระแสโลก แต่ต้องเป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรมด้วยการสร้างคุณค่าจากจุดแข็งของไทยที่มีอยู่ โดยเฉพาะภาคเกษตร (Agriculture) ที่ไทยมีศักยภาพรัฐควรส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางการผลิตเกษตรและอาหารโดยทำให้ต้นทุนของเกษตรกรลดต่ำและสร้างรายได้เพิ่ม ขณะเดียวกันก็ปรับสู่อาหารแห่งอนาคตเปลี่ยนเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นเกษตรสมัยใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการ
“เราพยายามดึงนักลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาให้สิทธิประโยชน์มากมาย ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ควรเปลี่ยนวิธีมาส่งเสริมการลงทุนให้กับธุรกิจของคนไทยมากขึ้นโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เพราะเราจะได้แค่ห่วงโซ่การผลิต (ซัปพลายเชน) แต่คนไทยไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่การดึงลงทุนก็ยังคงทำไป”นายสุพันธุ์กล่าว
นอกจากนี้ไทยยังต่อยอดเกษตรมาสู่ยุทธศาสตร์ BCG (Bio, Circular, Green) เพื่อขับเคลื่อนประเทศเพื่อต่อยอดจุดแข็งความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมมาแปลงหรือเพิ่มเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์มาปรับเปลี่ยนระบบการผลิตและการบริโภคที่นำไปสู่กระบวนการที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความสมดุลและตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ความยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การผลิตที่ต้องเป็น zero waste ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดย ส.อ.ท.ได้ตั้งสถาบัน carbon credit ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย สู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เป็นอีกหนึ่งกำลังที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
Health and Lifestyle สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ผลงานของระบบสาธารณสุขไทยในการรับมือเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าประเทศไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพ เครื่องมือแพทย์ รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนการจัดทำสินค้าประเภท Lifestyle คนไทยถือว่ามีฝีมือที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ยังขาดเรื่องการทำให้แบรนด์สินค้าติดตลาด หากสามารถสร้างแบรนด์ให้ตรงจุด ก็สามารถดันแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกได้
Tourism and Services ศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่มีภูมิประเทศที่สวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย มีชื่อเสียงด้านบริการ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมาตรฐานระดับโลกอยู่มากมาย เป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ไทยให้มีความแข็งแกร่งในเวทีโลก จากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ต่างชาติที่มีรูปแบบการทำงานแบบ Workcation เข้ามาทำงานและพักผ่อนไปด้วยในประเทศไทยมากขึ้น ก่อให้เกิดการใช้จ่าย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
การเพิ่มประสิทธิภาพในด้าน Technology Innovation Infrastructure และการสนับสนุนจากภาครัฐ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้ Technology ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมไทยสู่โครงสร้างพื้นฐาน 5G จะเร่งให้เกิดการนำแอปพลิเคชันและบริการ IoT มาใช้ทั่วทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศทั้งภาคเศรษฐกิจได้
Innovation การจะก้าวไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคตนั้นจำเป็นต้องปรับมาขับเคลื่อนประเทศบนฐานนวัตกรรม เร่งพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงภาคเอกชน ภาครัฐ การศึกษาและสังคมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อสร้างระบบนวัตกรรมที่เข้มแข็งจากพื้นฐาน สภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีการขับเคลื่อนกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของ SMEs ไทยอย่างยั่งยืน โดยการระดมทุนจากภาคเอกชนรายใหญ่ที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมเพื่อหนุน SMEs ให้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เอง
Infrastructure ระบบขนส่งโครงสร้างพื้นฐานของไทย ไม่ว่าจะเป็น การขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ซึ่งต้นทุนทางโลจิสติกส์ของประเทศไทยทุกวันนี้ค่อนข้างสูง หากสามารถพัฒนาระบบขนส่งโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวให้ครอบคลุมจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้มาก การสนับสนุนจากภาครัฐ นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องต่อเนื่อง ภาคเอกชนควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการปราบปรามคอร์รัปชัน