รฟท.ครบรอบ 125 ปี น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ร.5 ย้อนรอยประวัติศาสตร์ รถจักรไอน้ำ”กรุงเทพ-อยุธยา”ปักหมุดหลักกิโลเมตรที่ 0 กรรมสิทธิ์ที่ดิน แสดงพิกัด 3,840 จุด คาดเสร็จในเม.ย.ทำแผนที่ระบบดิจิทัล
วันนี้ (26 มีนาคม 2565) เวลา 7.00 น. ณ หน้าตึกบัญชาการรถไฟ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการจัดกิจกรรมวันคล้ายวันสถาปนาการรถไฟ ครบรอบ 125 ปี โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คณะผู้บริหารและพนักงานรฟท. ร่วม โดยมีการ ถวายพระราชสักการะและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ แด่พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานกิจการรถไฟไทยให้แก่ปวงชนชาวไทย และพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน อดีตผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง พระบิดาแห่งกิจการรถไฟยุคใหม่ พร้อมทั้งร่วมตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้งพระสงฆ์ 19 รูปร่วมกัน
สำหรับที่ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มีพิธีสักการะอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ที่สร้างขึ้นในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดเดินรถไฟหลวงสายแรกในสยาม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 เส้นทางสถานีกรุงเทพ-อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร ซึ่งการรถไฟฯ จึงได้กำหนดให้วันที่ 26 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
พร้อมกันนี้ ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยว ขบวนที่ 901 (กรุงเทพ-อยุธยา) บริเวณชานชาลาที่ 5 เป็นรถจักรไอน้ำ รุ่นแปซิฟิก รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ และร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
@ปักหมุดหลักกิโลเมตรที่ 0 ขึงแนวกรรมสิทธิ์ที่ดินรถไฟทำแผนที่ดิจิทัล
ต่อมาเวลา 8.20 น. นายนิรุฒ มณีพันธ์ ได้เป็นประธานในพิธีปักหมุดหลักกิโลเมตรที่ 0 (ศูนย์) ของเส้นทางการรถไฟฯ บริเวณลานน้ำพุหัวช้าง ซึ่งเคยเป็นหลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมา พนักงานและลูกจ้างของการรถไฟฯ ได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างลานน้ำพุหัวช้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบริเวณเดียวกับจุดยอดบนสุดของน้ำพุหัวช้าง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหลักกิโลกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำหรับสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลที่ดินของการรถไฟฯ ที่จะเปลี่ยนจากข้อมูลแผนที่แบบกระดาษ ไปสู่การทำแผนที่ดิจิทัล ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) หรือ GIS
ทั้งนี้ ในการปักหมุดหลักกิโลกรรมสิทธิ์ที่ดิน การรถไฟฯ มีแผนจะติดตั้งเพื่อใช้แสดงพิกัดอ้างอิงตามแนวเส้นทางของการรถไฟ ทุกๆ 1 กิโลเมตรไปทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งหลักกิโลกรรมสิทธิ์ที่ดินไปแล้ว 3,551 จุด จากทั้งหมด 3,840 จุด คงเหลือ 289 จุด ซึ่งคาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนปีนี้
จากนั้นได้เดินทางไปยังสโมสรรถไฟ เพื่อมอบโล่และประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติงานครบ 25 ปี พร้อมแหนบที่ระลึก รางวัลพนักงานดีเด่นประจำปี2564 และรางวัลล้อปีกรถไฟเกียรติยศ ชั้น 1, 2 และ 3
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ ครบรอบ 125 ปี การรถไฟฯ ได้ปรับแต่งภูมิทัศน์ ณ จุดปักหมุดกิโลที่ 0 บริเวณลานน้ำพุหัวช้าง และอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ด้วยดอกไม้ ต้นไม้ตามฤดูกาลที่มีสีสันสวยงาม โดยใช้สีเหลือง แดง ชมพู และขาว ภายใต้แนวคิดสวนร่วมสมัยสไตล์ฝรั่งเศส โดยด้านหลังอนุสาวรีย์ ใช้ต้นไทรเกาหลีเป็นฉากสีเขียว แซมด้วยไทรยอดทองพุ่มกลมซึ่งไห้สีเหลือง ขณะที่ตามแนวรั้วใช้ต้นหมากนวลทองใบสีเหลือง เป็นสีแทนในหลวงรัชกาลที่10 ส่วนแนวถนนทางเข้าใช้พุดด่างพุ่มกลมไห้สีขาวเขียวและปิดขอบบริเวณยอดด้วยสีแดงของต้นคริสติน่า เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ รัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงนำเทคโนโลยีในต่างประเทศเข้ามาพัฒนาความเจริญให้แก่ประเทศไทย จนเกิดเป็นระบบคมนาคมขนส่งทางรางที่ทันสมัย และมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ และประเทศชาติเรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน