‘บ้านปู เน็กซ์’ รุกธุรกิจโซลาร์ในนิคมฯ หลังโครงการโซลาร์ลอยน้ำนิคมฯ หลักชัยเมืองยางเตรียม COD กลางปี 2565 คาดช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้ากว่า 15 ล้านบาทต่อปี เสริมภาพลักษณ์นิคมฯ ต้นแบบความยั่งยืน ล่าสุดจ่อทำโปรเจกต์ใหญ่โครงการโซลาร์ลอยน้ำ นิคมฯ เอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท กำลังผลิตรวมสูงถึง 32 เมกะวัตต์ ส่งเสริมระบบนิเวศบริเวณนิคมฯ สิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายชนิต สุวรรณพรินทร์ ผู้อํานวยการอาวุโส - บริหารการตลาด และการขาย บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า ในปี 2565 บ้านปู เน็กซ์วางแผนธุรกิจรุกติดตั้งโซลาร์ทุกรูปแบบในไทยให้กับอุตสาหกรรมทุกประเภท โดยเฉพาะกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยโครงการโซลาร์ลอยน้ำในนิคมฯ เอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท ถือเป็นโครงการโซลาร์ลอยน้ำภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของไทย ติดตั้งบนพื้นที่บ่อน้ำขนาด 200 ไร่ กำลังผลิตรวม 32 เมกะวัตต์ คาดว่าเมื่อจ่ายไฟเข้าระบบจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละกว่า 36 ล้านบาท และช่วยส่งเสริมระบบนิเวศบริเวณนิคมฯ สิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ส่วนโครงการโซลาร์ลอยน้ำขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จ.ระยอง ของบริษัทไทร เบคก้า เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด กำลังการผลิตรวม 16 เมกะวัตต์ ที่ติดตั้งคืบหน้าแล้วเสร็จกว่า 95% คาดว่าจะเปิดจ่ายไฟฟ้า (COD) ได้ในกลางปีนี้ พร้อมติดตั้งดิจิทัลแพลตฟอร์มและแดชบอร์ดที่ช่วยให้นิคมฯ มอนิเตอร์คุณภาพและระดับน้ำ รวมถึงการทำงานของระบบโซลาร์ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของบ่อน้ำ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ลดการปล่อย CO2 ได้ถึง 11,000 ตันต่อปี ทั้งยังเสริมภาพลักษณ์ต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มุ่งพัฒนานิคม ชุมชน และพนักงานตามหลักความอย่างยั่งยืนอีกด้วย
“ปัจจุบัน บ้านปู เน็กซ์ ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าหลากหลายธุรกิจ ทั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรงงาน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตีมอลล์ โรงเรียน โรงแรม ตลาด สถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ เนื่องจากเชื่อมั่นในจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญในการติดตั้งโซลาร์ทุกประเภท ทั้งโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์คาร์พอร์ต โซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์ฟาร์ม
การดำเนินงานที่ยึดหลักความต้องการของลูกค้าเป็นความสำคัญ (Customer centric) เริ่มจากการใช้โซลูชันวิเคราะห์มาวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้พลังงานของลูกค้าแต่ละราย และนำดาต้ามาออกแบบระบบโซลาร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการและปัญหา (Pain point) เหมาะสมกับการใช้พลังงาน ที่สำคัญมีดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ลูกค้าตรวจสอบการผลิต การใช้ไฟฟ้าทั้งจากระบบโซลาร์ และแหล่งไฟฟ้าอื่น รวมถึงดูผลประหยัดค่าไฟ และลด CO2 ได้แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านมา” นายชนิตกล่าว