“สุริยะ” เร่ง กนอ.เตรียมพื้นที่รองรับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศย้ายฐานเข้าไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านบอร์ด กนอ.อนุมัติหลักการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่อีอีซี นิคมอุตสาหกรรมหนองละลอกจับมือร่วมดำเนินงานกับ บ.พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยองไทย-จีน 1 ,546 ไร่ จ.ระยอง ลงทุนกว่า 3,700 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งดึงดูดการลงทุนด้วยการเตรียมพร้อมในเรื่องของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและมาตรการต่างๆ ที่จะสนับสนุนเพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตจากนักลงทุนทั่วโลกที่ขณะนี้หลายอุตสาหกรรมมองหาโอกาสหลังจากเกิดสงครามทางการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
"การลงทุนตรงจากต่างประเทศหรือ FDI จะเป็นอีกกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตอบโจทย์ห่วงโซ่การผลิตที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งไทยมีอุตสาหกรรมพื้นฐานต่างๆ รองรับที่เข้มแข็ง ทั้งภาคเกษตร ยานยนต์ ที่กำลังถูกส่งเสริมไปยังยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) พลังงานทดแทนภายใต้ยุทธศาสตร์ BCG โมเดล ฯลฯ กนอ.จึงต้องเร่งโรดโชว์ดึงการลงทุนเหล่านี้เข้ามาเพื่อสร้างฐานการผลิตของไทยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)" นายสุริยะกล่าว
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ. (บอร์ด กนอ.) อนุมัติในหลักการให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 1 แห่ง โดยร่วมดำเนินงานกับ บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน จำกัด ในรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในอีอีซี การขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve และอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงตอบสนองนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามยุทธศาสตร์ของประเทศเชิงพื้นที่ (Area based) โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและให้บริการระบบสาธารณูปโภคภายใต้การกำกับของ กนอ.
โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหนองละลอกตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง พื้นที่ประมาณ 1,546 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 3,768.14 ล้านบาท โดยที่ตั้งของโครงการฯ ถือว่ามีความได้เปรียบจากการเป็นพื้นที่ดอน ไม่มีความเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม ด้านหน้าโครงการติดถนนทางหลวงแผ่นดิน และห่างจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางชลบุรี-พัทยา ประมาณ 14 กิโลเมตร อยู่ห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ประมาณ 24 กิโลเมตร ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ประมาณ 40 กิโลเมตร ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ประมาณ 60 กิโลเมตร และห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมาณ 150 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ตัวโครงการแบ่งพื้นที่เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไป ประมาณ 1,123 ไร่ พื้นที่โรงไฟฟ้า ประมาณ 22 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 181 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน ประมาณ 218 ไร่ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดและเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี โดยหลังเปิดดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 45,840 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 11,460 คน อย่างไรก็ตาม โครงการฯ อยู่ในพื้นที่เป้าหมายของ EEC อยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ อีกทั้งผู้ประกอบการยังได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมของ EEC ด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถขาย/ให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ในระยะเวลา 5 ปี
สำหรับการจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าว นำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในนิคมอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 มีการนำน้ำทิ้งไปผ่านการบำบัดและปรับปรุงคุณภาพเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) เพื่อลดอัตราการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังใช้แนวคิดการออกแบบอาคารแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) รวมถึงการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Green Building) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการ กนอ.ว่าด้วยมาตรฐานระบบสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พ.ศ. 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม