กรมรางเผยผลตรวจสาเหตุรถไฟฟ้า “บีทีเอส-สีม่วง” ขัดข้องเกิดจากระบบควบคุมการเดินรถไฟฟ้ามีปัญหา ซึ่งทั้ง 2 สายใช้ software ระบบบังคับสัมพันธ์ (interlocking) ของอัลตอมรุ่นเดียวกัน ต้องรีเซตระบบใหม่ และพบรถไฟฟ้าในอินเดียและจีนที่ใช้ผลิตภัณฑ์เดียวกันก็ขัดข้อง เตรียมประชุมกับผู้ให้บริการไฟฟ้า 21 มี.ค.หาทางป้องกัน
กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ชี้แจงว่า ตามที่เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 17 มีนาคม 2565 เมื่อเวลา 06.07 น. เกิดเหตุระบบบังคับสัมพันธ์ (Interlocking) ของรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) ขัดข้องระหว่างสถานีสะพานพระนั่งเกล้าถึงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และต่อมาเวลา 07.35 น. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรมได้ใช้แผนเดินรถสำรอง โดยจัดการเดินรถแบบไป-กลับ (Shuttle) ระหว่างสถานีกระทรวงสาธารณสุขถึงสถานีเตาปูน และแบบวงย่อย (Short loop) ระหว่างสถานีคลองบางไผ่ถึงสถานีกระทรวงสาธารณสุข และในเวลา 08.35 น.ทาง BEM ได้ยกเลิกแผนการเดินรถสำรองมาใช้การเดินรถแบบปกติอีกครั้ง โดยมีความถี่ (Headway) 7 นาที ต่อมาเวลา 10.33 น. BEM ได้กลับมาใช้แผนการเดินรถสำรองในรูปแบบไป-กลับ (Shuttle) โดยแบ่งเป็น 5 ช่วง ได้แก่ สถานีคลองบางไผ่-สถานีบางพลู สถานีบางพลู-สถานีพระนั่งเกล้า, สถานีสะพานพระนั่งเกล้า-สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี, สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี-สถานีวงศ์สว่าง และสถานีวงศ์สว่าง-สถานีเตาปูน โดยมีความถี่ (Headway) ที่ 20 นาที จากนั้นเวลา 12.35 น. เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อย โดยสามารถกลับมาให้บริการเดินรถได้ตามปกติ
นอกจากนี้ ยังพบว่าเมื่อเวลา 09.24 น. เกิดเหตุระบบควบคุมการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียว) สายสุขุมวิทขัดข้องระหว่างสถานีห้าแยกลาดพร้าว (N 9) ถึงสถานีสายหยุด (N 19) และต่อมาเวลา 10.05 น. ทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท ได้ปรับรูปแบบการเดินรถ โดยให้บริการเดินรถสายสุขุมวิทเฉพาะช่วงสถานีหมอชิต (N 8) - สถานีเคหะ (E 23) ส่วนช่วงระหว่างสถานีห้าแยกลาดพร้าว (N 9) ถึงสถานีคูคต (N 24) ปิดการให้บริการชั่วคราว จนถึงเวลา 12.55 น. เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อย โดยสามารถกลับมาให้บริการเดินรถสายสุขุมวิทได้ตามปกติ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว กรมการขนส่งทางรางได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุความขัดข้องของระบบควบคุมการเดินรถไฟฟ้า พบว่าปัญหาเกิดขึ้นจาก software ของอุปกรณ์ระบบบังคับสัมพันธ์ (interlocking) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตรายเดียวกันทั้งสองสาย โดยพบว่า ระบบรถไฟฟ้าในหลายประเทศที่ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้เกิดเหตุขัดข้องในลักษณะเดียวกันในช่วงเวลา (time zone) ใกล้เคียงกัน เช่น รถไฟฟ้า Metro สายสีม่วง สีเขียว และสีชมพู รวม 3 สายในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย รถไฟฟ้า subway หมายเลข 5 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งนี้ ทาง BTS ได้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยการรีเซตระบบใหม่จนกลับมาเดินรถได้ตามปกติในเวลา 12.55 น. และ BEM ได้แก้ปัญหาของสายสีม่วง โดยการรีเซตระบบใหม่เช่นเดียวกัน โดยกลับมาเดินรถได้ตามปกติในเวลา 12.35 น.
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าทั้งสองรายได้ดำเนินการประสานกับผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบบังคับสัมพันธ์ดังกล่าว เพื่อหาวิธีป้องกัน และแนวทางที่ให้ระบบเกิดความเสถียรภาพมากขึ้นต่อไป ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางจะประชุมหารือร่วมกับผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าทั้งสองรายในวันที่ 21 มีนาคมนี้ เพื่อหาแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นอีก
สำหรับอุปกรณ์ระบบบังคับสัมพันธ์ (interlocking) เป็นระบบตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ระบบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเตรียมทางให้ขบวนรถเข้า-ออกสถานี ให้ทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการเดินรถมีความปลอดภัย โดยทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ใช้ผลิตภัณฑ์ของอัลสตอม ประเทศฝรั่งเศส รุ่นเดียวกัน