รฟม. ลงนามจ้างก่อสร้าง 6 สัญญา กว่า 8.2 หมื่นล้าน 5 บิ๊กรับเหมา ลุยตอกเข็ม/ เจาะอุโมงคต์รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ เร่งออก NTP ลุยเปิดไซด์ก่อสร้าง ในปี 65. มั่นใจเสร็จเปิดบริการปี 70
วันนี้ (11 มี.ค. 2565) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระหว่าง รฟม. กับ ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา ทั้ง 6 สัญญา โดยมีผู้แทน ประกอบด้วย นายวัชระ แสงหัตถวัฒนา ผู้แทนบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK นายประเสริฐ คงเคารพธรรม ผู้แทนบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC นายธรณิส กรรณสูต ผู้แทนบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD นายพลพัฒ กรรณสูต ผู้แทนบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR และนายประสงค์ สุวิวัฒน์ธนชัย ผู้แทนบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 9 อาคารสำนักงาน รฟม.
พร้อมกันนี้ ได้มีการลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระหว่าง รฟม. ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาทั้ง 6 สัญญา และ ผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยกระบวนการขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา จนสามารถลงนามสัญญาจ้างร่วมกันได้วันนี้ นั้น รฟม. ได้ดำเนินการตามข้อกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตามแนวนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม
สำหรับการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ทั้ง 6 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ ในวงเงิน 19,430 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วย งานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงเตาปูน -หอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง ประมาณ 4.8 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 16 - 35 เมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 3 สถานี ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 2 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบของสถานี และงานอื่นๆ โดยมีผู้รับจ้างสัญญาที่ 1 ได้แก่ CKST-PL JOINT VENTURE (ประกอบด้วย บมจ. ช.การช่าง และ บมจ. ซิโน-ไทย เป็นผู้รับจ้าง
สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า ในวงเงิน 15,878 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วย งานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ - ผ่านฟ้า ระยะทางประมาณ 2.4 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 23 - 46 เมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 3 สถานี ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 1 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบของสถานี และงานอื่นๆ โดยมีผู้รับจ้างสัญญาที่ 2 ได้แก่ CKST-PL JOINT VENTURE (ประกอบด้วย บมจ.ช.การช่าง และ บมจ. ซิโน-ไทย เป็นผู้รับจ้าง
สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ ในวงเงิน 15,109 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วย งานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพระพุทธยอดฟ้า ระยะทางประมาณ 3.1 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 22 - 41 เมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 2 สถานี ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 3 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบของสถานี และงานอื่นๆ โดยมีผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 ได้แก่ ITD – NWR MRT JOINT VENTURE (ประกอบด้วย บมจ. อิตาเลียนไทย และ บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้รับจ้าง
สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง ในวงเงิน 14,982 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วย งานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงสะพานพระพุทธยอดฟ้า - ดาวคะนอง ระยะทางประมาณ 4.1 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 17 - 28 เมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 2 สถานี ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 5 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบของสถานี และงานอื่นๆ โดยมี บมจ. ยูนิค เป็นผู้รับจ้าง
สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง - ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) ในวงเงิน 13,094.8 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วยงานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้ายกระดับ ช่วงดาวคะนอง - ครุใน ระยะทางประมาณ 9.0 กิโลเมตร สถานีรถไฟฟ้ายกระดับจำนวน 7 สถานี งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบของสถานี และงานอื่นๆ อาคารจอดแล้วจร จำนวน 4 แห่ง บริเวณบางปะกอก และราษฎร์บูรณะ จอดรถได้ประมาณ 1,920 คัน โรงจอดรถไฟฟ้าบริเวณวงแหวนกาญจนาภิเษก โดยมี บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้รับจ้าง
สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ ในวงเงิน 3,589 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วย งานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างงานระบบราง ช่วงเตาปูน - ครุใน ซึ่งเป็นระบบรางของทางวิ่งรถไฟฟ้าและระบบรางภายในโรงจอดรถไฟฟ้า งานติดตั้งรางทางวิ่ง รางจ่ายกระแสไฟฟ้า และงานอื่นๆ โดยมี บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้รับจ้าง
ทั้งนี้ รฟม. ได้ระบุกรอบระยะเวลาดำเนินงานสำหรับการก่อสร้างงานโยธาทั้ง 6 สัญญา ไว้ที่ 2,005 วัน นับจากวันที่ รฟม. ได้มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ให้กับผู้รับจ้าง โดย ตามแผนงาน จะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2565 และคาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2570 โดย รฟม. และผู้รับจ้างแต่ละสัญญา จะร่วมกันดำเนินงานก่อสร้างโครงการอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยศักยภาพสูงสุด เพื่อให้โครงการมีความก้าวหน้าและสามารถดำเนินงานได้ตามแผนงาน
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) อีกทั้งยังมีสถานีที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟม. เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้ใช้บริการ ได้แก่ สถานีสามยอด เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และสถานีผ่านฟ้า ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยอีกด้วย