“ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” เข้าจดทะเบียนในโครงการ RE100 อย่างเป็นทางการ นับเป็นบริษัทโรงไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้รายแรกของไทย ตั้งเป้าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียว 100% ภายในปี 2569 ลดคาร์บอนได้ 12 ล้านตันต่อปี
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการเข้าจดทะเบียนในโครงการ RE 100 อย่างเป็นทางการ และถือเป็นบริษัทโรงไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้แห่งแรกในประเทศไทยที่ได้มาตรฐานนี้ โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียว 100% ภายในปี 2569
โครงการ RE100 เป็นโครงการระดับโลกภายใต้การนำของ The Climate Group ร่วมด้วย CDP มีเป้าหมายผนึกกำลังบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เช่น Apple, Google, Facebook, Coca-Cola, Microsoft, Philips และ Goldman Sachs ให้ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในกรอบเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยแต่ละองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ RE100 ตั้งเป้าใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% ในการดำเนินงานทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
บริษัทฯ ได้ก้าวสู่การเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียว 100% โดยได้เริ่มทยอยเปลี่ยนโรงไฟฟ้าจำนวน 220 เมกะวัตต์ ให้ใช้เชื้อเพลิงขยะ ส่งผลให้โรงไฟฟ้าทุกโรงของบริษัทใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงครบ 100% ในปี 2568 ทำให้ TPIPP จะมี Net Zero Carbon Emission และมี Carbon Credit ที่คาดว่าจะขายได้ประมาณ 12.45 ล้านตันต่อปีตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป ตอกย้ำการเป็นผู้นำโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียวที่ช่วยกำจัดขยะให้ประเทศ (Green & Clean Energy) โดยในปีนี้เราพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพ รวมถึงนำเอา RDF เข้ามาใช้เพื่อเสริมศักยภาพและลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า
ที่ผ่านมาบริษัทยึดมั่นนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (ESG & Bio Circular-Green Economy-BCG) โดยมุ่งเน้นการเติบโตอย่างสมดุลในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเป็นบริษัทที่เติบโตอย่างยั่งยืนได้รับความเชื่อถือในระดับสากล
ปัจจุบัน TPIPP ได้รับขยะเฉลี่ยต่อวัน 8,500 ตัน หรือคิดเป็น 2.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งช่วยลดคาร์บอนจากการฝังกลบได้ 5.8 ล้านตันต่อปี และภายในปี 2569 คาดว่าจะขยายการรับขยะเฉลี่ยต่อวันเพิ่มเป็น 17,000 ตัน หรือคิดเป็น 5.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะช่วยลดคาร์บอนจากการฝังกลบได้ 12 ล้านตันต่อปี และลดก๊าซมีเทนที่เกิดจากขยะที่ส่งผลต่อภาวะเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง