xs
xsm
sm
md
lg

อ.ส.ค.เร่งติดตั้งเครื่องจักรไฮสปีด 2 แห่ง รับขยายตลาด “นมวัวแดง” ไทย-ตปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - อ.ส.ค.เร่งติดตั้งเครื่องจักรไฮสปีดโรงงานนมปราณบุรีและโรงงานนมขอนแก่นเสริมเขี้ยวเล็บกำลังผลิตนมวัวแดงรองรับการขยายตลาดนมวัวแดงในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมเป็นฐานการผลิตใหญ่มุ่งเจาะตลาดต่างประเทศและรองรับน้ำนมดิบเกษตรกรในพื้นที่

นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการติดตั้งเครื่องบรรจุผลิตภัณฑ์นมยูเอชที (UHT) แบบไฮสปีด (High Speed) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค รองรับการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องจักรระบบไฮสปีด (High Speed) เพิ่มในโรงงานนม อ.ส.ค. อีก 2 แห่ง คือ โรงงานนมปราณบุรี (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และโรงงานนมขอนแก่น (จังหวัดขอนแก่น) โดยในส่วนของโรงงานนมปราณบุรีขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ 80% คาดว่าภายในเดือนสิงหาคม 2565 นี้สามารถเดินเครื่องผลิตได้โดยสมบูรณ์ ส่วนโรงงานนมขอนแก่นกำลังอยู่ระหว่างเร่งติดตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ทั้งนี้ สำหรับโรงงานนมปราณบุรีปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ประมาณ 120 ตัน/วัน แต่หลังจากติดตั้งเครื่องบรรจุผลิตภัณฑ์นมยูเอชที (UHT) แบบไฮสปีด (High Speed) แล้วเสร็จจะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 200 ตัน/วัน ซึ่งเครื่องจักรเดิมรองรับน้ำนมดิบได้เพียงวันละ 120 ตัน/วันและมีกำลังผลิตเพียง 5,000 กล่อง/ชั่วโมงเท่านั้น ในขณะที่เครื่องบรรจุแบบไฮสปีด (High Speed) จะมีกำลังการผลิตสูงถึง 23,000 กล่อง/ชั่วโมง การติดตั้งเครื่องจักรรูปแบบใหม่ในครั้งนี้จะทำให้โรงงานนมแห่งนี้เป็นโรงงานมที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคใต้


นายสมพรกล่าวว่า “ปัจจุบันโรงงานนมปราณบุรีมียอดจำหน่ายนมในพื้นที่ภาคใต้ประมาณเดือนละ 90 ล้านบาท ในอนาคต อ.ส.ค.มีแผนใช้โรงงานนม อ.ส.ค.ภาคใต้เป็นฐานการผลิตในการส่งออกผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คไปยังตลาดมาเลเซียและจีนซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษากฎระเบียบในการนำเข้า ส่วนจะขยายกำลังผลิตในพื้นที่ภาคใต้ตามศักยภาพของเครื่องจักรหรือเป็นไปตามแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ ณ ขณะนั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่ง เนื่องจาก อ.ส.ค.ต้องคำนึงถึงรายได้และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนที่กำลังชะลอตัวลงอย่างมาก

โดยสถานการณ์ดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจต่างๆ ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมที่เป็นสินค้าบริโภคในอนาคตอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง การติดตั้งเครื่องจักรใหม่ในครั้งนี้เราเล็งเห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของตลาดในอนาคต รวมทั้งเตรียมพร้อมรองรับปริมาณน้ำนมดิบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และศูนย์รวบรวมนมดิบในพื้นที่ภาคใต้แบบยั่งยืน อีกทั้งจะช่วยลดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดในอนาคตได้อีกทางหนึ่งด้วย


ในปัจจุบัน อ.ส.ค.ได้ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์วิกฤต การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการหันมาบุกตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซของลาซาด้า (LAZADA) และช้อปปี้ (Shopee) มากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คกับผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้สามารถซื้อสินค้าได้อย่างสะดวก คล่องตัวมากขึ้น” นายสมพรกล่าว

ด้านนายชัยณรงค์ เปาอินทร์ รองผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวเพิ่มเติมถึงวัตถุประสงค์หลักของการติดตั้งเครื่องบรรจุนมยูเอชที (UHT) แบบไฮสปีด (High Speed) นอกจากรองรับการขยายการเติบโตในตลาดแล้ว อ.ส.ค.ยังเตรียมพร้อมในการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำนมดิบล่วงหน้าของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่อยู่ในเขตพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค.ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งปัจจุบัน อ.ส.ค.รับปริมาณน้ำนมดิบทั่วประเทศประมาณ 735 ตัน/วัน จากสหกรณ์โคนมและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในเขตพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค.ทุกภูมิภาคจำนวน 44 สหกรณ์/ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ซึ่งหาก อ.ส.ค.เตรียมพร้อมเครื่องจักรที่ทันสมัยและมีกำลังผลิตที่สูงขึ้นก็จะช่วยรองรับน้ำนมดิบของเกษตรกรในอนาคตได้เพิ่มขึ้นปัญหานมล้นตลาดก็จะได้หมดไป




กำลังโหลดความคิดเห็น