xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเวียตเจ็ทลุยเปิด 4 เส้นทางระหว่าง ปท. ฟื้นตลาดท่องเที่ยว "กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยเวียตเจ็ทลุยขยาย 4 เส้นทางบินระหว่างประเทศ ฟื้นตลาดท่องเที่ยว "กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์" จ่อเพิ่มฝูงบิน 4-8 ลำ พร้อมบินจีน ญี่ปุ่น หากเปิดประเทศ ตั้งเป้าปีนี้ผู้โดยสาร 5 ล้าน รายได้เพิ่ม 30% จากปีก่อน

นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดเผยว่า สายการบินเตรียมขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศอีกครั้งหลังจาก การจำกัดการเดินทาง เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา โดยเริ่มใน 3 ประเทศ คือ กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ และเตรียมแผนในการขยายเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศสู่หลากหลายจุดมุ่งหมายในภูมิภาคเอเชีย ทั้ง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อเชื่อมต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศกับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย รวมถึงการให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศเส้นทางใหม่ๆ จะมีส่วนสำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมผู้คนจากแต่ละประเทศ พร้อมๆ กับช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมของแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ จะเริ่มให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-พนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป โดยในช่วงแรก จะเริ่มให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ทุกวันพุธ วันศุกร์ และวันอาทิตย์ และจะปรับเพิ่มจากความถี่สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เป็นสูงสุดสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน เริ่มในเดือนพฤษภาคมนี้ และขยายเป็น 2 เที่ยวบินช่วงสิ้นปี นอกจากนี้ ยังเตรียมให้บริการเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ สู่ เสียมราฐต่อไป

ทั้งนี้ ผู้โดยสารที่มีความประสงค์เดินทางเข้าสู่ประเทศกัมพูชาต้องแสดงหลักฐานผลการตรวจหาเชื้อไวรัสเป็นลบแบบ RT-PCR (ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเวลาออกเดินทาง) เมื่อเดินทางถึงประเทศกัมพูชา รวมทั้งตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เมื่อเดินทางถึงกัมพูชา

เส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม โดยผนึกกำลังกับสายการบินเวียตเจ็ท (เวียดนาม) 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์  เริ่ม 17 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นสายการบินเดียวที่ให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างไทยกับเวียดนามอย่างต่อเนื่องตลอดการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2564

นอกจากนี้ ไทยเวียตเจ็ทจะกลับมาให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ดานัง เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2565 โดยในช่วงแรก เส้นทางบินระหว่างประเทศ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ดานัง จะให้บริการด้วยความถี่สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ทุกวันพุธ วันศุกร์ และวันอาทิตย์ โดยวางแผนปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบินตามความต้องการของตลาดในอนาคต

ปัจจุบันมาตรการเดินทางเข้าไทยและเวียดนามได้รับการผ่อนปรน ซึ่งจะมีส่วนในการฟื้นฟูตลาดการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ โดยประเทศไทยได้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR ในวันที่ 5 หลังเดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักร และลดวงเงินประกันภัยโควิด-19 เหลือเพียง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิม 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ขณะที่เวียดนามผ่อนปรนมาตรการเหลือเพียงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ ATK หรือ RT-PCR ในวันที่ 1 และต้องมีวงเงินประกันภัยโควิด-19 เพียง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

สำหรับสิงโปร์ จะเป็นแบบไม่ต้องกักตัว บินตรง 2 เส้นทาง จากสุวรรณภูมิและภูเก็ต โดยสายการบินไทยเวียตเจ็ทได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลสิงคโปร์และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสิงคโปร์ในการเข้าร่วมโครงการช่องทางพิเศษสำหรับผู้เดินทางที่ฉีดวัคซีนแล้ว (Vaccinated Travel Lane หรือ VTL) อนุญาตให้เดินทางเข้าสู่ประเทศสิงคโปร์โดยไม่ต้องทำการกักตัว หวังฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ โดยจะเริ่มให้บริการเส้นทางสุวรรณภูมิ สู่ชางงี ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2565 ความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ส่วนเส้นทางบินภูเก็ต สู่ชางงี สิงคโปร์ เริ่มวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ความถี่ 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

นายวรเนติกล่าวว่า ในปีนี้มีแผนเพิ่มฝูงบินประมาณ 4-8 ลำ เพื่อรองรับการเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่ม โดยก่อนเกิดโควิดมีบริการเส้นทางระหว่างประเทศ 20-30 เส้นทาง โดยปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ สถานการณ์โควิด การผ่อนคลายการเดินทางของประเทศต่างๆ ในอาเซียน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และอินเดีย โดยจีนนั้นคาดหมายว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวประมาณเดือนตุลาคม หรือไตรมาส 4/65 ซึ่งจะต้องมีเครื่องบินเพิ่มอย่างน้อย 3 ลำ เป็นต้น

ส่วนญี่ปุ่น ขณะนี้ยอดติดเชื้อค่อนข้างสูง แต่ก็มีการผ่อนคลายให้นักธุรกิจ นักเรียนเดินทางเข้าได้ มีการกักตัว 7 วัน ส่วนนักท่องเที่ยวยังไม่เปิดรับ ซึ่งขณะนี้ เรามีความพร้อมเปิดบินไปเมืองฟุกุโอกะ โดยได้รับอนุมัติสิทธิการบินแล้ว คาดว่าจะทำการบินได้ประมาณเดือน ก.ค. 2565

"ไทยเวียตเจ็ทเป็นสายการบินขนาดเล็กเมื่อเทียบสายการบินอื่น จึงมีโอกาสในการเติบโตสูง ช่วงโควิด เราไม่ได้หยุดบิน แต่ปรับมาบินในประเทศ และพนักงานเพิ่มจาก 650 คน เป็น 900 คนในปัจจุบัน โดยปี 64 มีผู้โดยสารประมาณ 3 ล้านคน มีสัดส่วนต่างประเทศ 5% ส่วนปี 65 คาดประมาณ 5 ล้านคน มีเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็น 30% และมองการเติบโตในช่วง 5 ปีจากนี้ ผู้โดยสารต่างประเทศเพิ่มเป็น 70% ส่วนรายได้ในปี 64 ธุรกิจด้านการเดินทางถูกจำกัด ไม่มีใครทำกำไรได้ ประกอบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ปี 65 จะมีการขยายเส้นทางบินคาดว่ารายได้จะโตกว่าปี 64 ไม่น้อยกว่า 30%"

@ยื่น CAAT แยกเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมัน

นายวรเนติกล่าวถึงราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นว่า ขณะนี้ สมาคมสายการบินในประเทศได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เพื่อขอพิจารณาให้สายการบินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมัน (Fuel Surcharge) โดยแยกออกจากราคาค่าโดยสารให้ชัดเจน เหมือนการแยกค่าภาษีสนามบินออกมา โดยกำหนดหลักการกำหนดราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เหมาะสม หากเกินระดับ จึงจะบวกค่าธรรมเนียมน้ำมัน เพื่อช่วยเหลือสายการบิน และไม่กระทบต่อราคาค่าโดยสาร

ปัจจุบันสายการบินมีต้นทุนมาก เช่น มีค่าเช็กอินที่ ทอท.เรียกเก็บค่อนข้างสูง ซึ่งสายการบินนำมาเรียกเก็บจากผู้โดยสารเท่ากับที่ ทอท.เรียกเก็บโดยไม่มีการบวกเพิ่ม ซึ่งจะมีการขอแยกค่าเช็กอินนี้ออกมาให้ชัดเจนเช่นกัน

ในการคิดค่าโดยสาร เหมือนกับที่เคยใช้มาในอดีต เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับสูงขึ้นอย่างมาก จากผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้สายการบินต่างๆ มีต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น

นายปิ่นยศ พิบูลสงคราม ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า สำหรับ 4 เส้นทางระหว่างประเทศ ได้แก่ พนมเปญ ดานัง โฮจิมินห์ สิงคโปร์ ที่จะเปิดให้บริการนั้น คาดหมายอัตราส่วนผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 80% ซึ่งขณะนี้ยอดจองน่าพอใจและคาดว่าจะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท






กำลังโหลดความคิดเห็น