xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแบบ "ทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่" ตัดถนนใหม่ 4 เลน 35 กม. แก้รถติดเขตเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทล.ฟังเสียงชาวหาดใหญ่ วางรูปแบบทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก) 35 กม. ตัดถนนใหม่ 4 เลน เชื่อมต่อโครงข่ายถนนท้องถิ่นเดิม พร้อมทางแยกต่างระดับ 4 แห่งรองรับจราจรในอนาคต

วันที่ 14 มีนาคม 2565 กรมทางหลวง (ทล.) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะสมของโครงการ (การสัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก) เพื่อนำเสนอสรุปผลข้อมูลโครงการ และรูปแบบที่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการแนวเส้นทางโครงการ สภาพแนวเส้นทางในปัจจุบัน ขอบเขตการศึกษาด้านต่างๆ ขั้นตอนดำเนินงาน แนวคิดรูปแบบการพัฒนาโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meeting ณ
โรงแรมเซาท์เทอร์น แอร์พอร์ต อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีนายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม

โดยโครงข่ายทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก) มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 4135 ที่ กม.8+850 ในเขตพื้นที่บ้านควน และมีจุดปลายทางบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 414 ที่ กม.11+635.236 ในเขตพื้นที่บ้านหนองทราย รวมระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร โดยเส้นทางของโครงการมีจุดตัดทางหลวงที่สำคัญ 4 แห่ง  เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทาง และรองรับปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

การออกแบบถนนของโครงการเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร มีเกาะกลางแบบร่อง และมีเขตทางกว้าง 60 เมตร เนื่องจากมีสภาพพื้นที่ตัดผ่านพื้นที่ลุ่ม โดยเกาะกลางแบบร่องจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้สะดวกยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก) เป็นทางหลวงแนวใหม่ ที่ตัดผ่านโครงข่ายถนนท้องถิ่นและพื้นที่ชุมชน จึงต้องออกแบบการเชื่อมต่อระหว่างโครงข่ายถนนท้องถิ่นเดิม เพื่อให้ชุมชนสามารถเดินทางสัญจรทั้งสองฝั่งได้อย่างสะดวกและไม่อ้อม โดยมีแนวคิดในการออกแบบทางลอดเชื่อมโครงข่าย เพื่อให้รถที่มีขนาดเล็กที่มีความสูงไม่เกิน 2.40-3.00 เมตร สามารถลอดไปมาได้ รวมถึงการออกแบบในลักษณะที่มีทางขนานแยกออกไปและลดระดับลงสู่ถนนท้องถิ่น เพื่อลอดและกลับรถได้อย่างสะดวก ส่วนรถบรรทุกสามารถไปใช้จุดกลับรถใต้สะพานข้ามคลองและสะพานข้ามทางแยกที่มีความสูงไม่ต่ำกว่า 5.50 เมตรได้ ช่วยให้การเดินทางบนเส้นทางโครงการมีความสะดวกในทุกทิศทาง

ส่วนรูปแบบทางแยกต่างระดับทั้ง 4 แห่งมีรายละเอียดดังนี้ 1. ทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 4135 (จุดเริ่มต้นโครงการ) กำหนดรูปแบบเป็นสะพานยกระดับในแนวทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก) เพื่อรองรับการจราจรทิศทางตรงจากพัทลุง ไป อ.สะเดา ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ และระดับพื้นดิน ออกแบบเป็นทางแยกติดสัญญาณไฟจราจร

2. ทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 4287 กำหนดรูปแบบเป็นสะพานยกระดับในแนวทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก) เพื่อรองรับการจราจรทิศทางตรงจากสนามบินไป อ.เมืองสงขลา มีขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ และระดับพื้น ออกแบบเป็นทางแยกติดสัญญาณไฟจราจร

3. ทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 4 กำหนดรูปแบบเป็นสะพานบนทางหลวงหมายเลข 4 เพื่อรองรับการเดินทางจากพัทลุงไป อ.หาดใหญ่ โดยออกแบบเป็นทางลอดตามแนวทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก) เพื่อรองรับการจราจรทิศทางจากสนามบินไป อ.เมืองสงขลา ออกแบบช่องวงเลี้ยวขวา (Loop Ramp) สำหรับรถเลี้ยวขวาในแต่ละทิศทาง สำหรับการจราจรในทิศทางเลี้ยวซ้ายออกแบบเป็นถนนระดับพื้นราบเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด การจราจรทุกทิศทางผ่านทางแยกโดยไม่ติดสัญญาณไฟจราจร

4. ทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 414 (จุดสิ้นสุดโครงการ) กำหนดรูปแบบเป็นสะพานยกระดับในแนวทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก) เพื่อรองรับการจราจรทิศทางตรงจากพัทลุงไป อ.สะเดา ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ มีสะพานวน (Directional Ramp) สำหรับทิศทางจากสงขลาเลี้ยวขวาไปพัทลุง ส่วนทิศทางจาก อ.หาดใหญ่เลี้ยวขวาไป อ.สะเดา เบี่ยงซ้ายและลอดใต้สะพานและข้าม ทางหลวงหมายเลข 414 ด้วยสะพาน ส่วนทิศทางจากพัทลุงเพื่อเดินทางไป อ.หาดใหญ่ และทิศทางจาก อ.สะเดา เพื่อเดินทางไปสงขลา ใช้ช่องทางเลี้ยว (Loop Ramp) สำหรับการจราจรในทิศทางเลี้ยวซ้าย ออกแบบเป็นถนนระดับพื้นราบเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด การจราจรทุกทิศทางผ่านทางแยกโดยไม่ติดสัญญาณไฟจราจร

นอกจากนี้ โครงการได้ทำการประเมินปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดกรองปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ และนำไปศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการเพื่อลดการเกิดผลกระทบให้มากสุดและให้การดำเนินโครงการส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวงจะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ และเตรียมจัดการประชุมกลุ่มย่อยอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน 2565 และจากนั้นจะจัดการประชุมสัมมนาสรุปผลการศึกษาโครงการ ครั้งที่ 3 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 เพื่อนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ www.western-bypasshatyai.com
 












กำลังโหลดความคิดเห็น