กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จับมืออุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STeP) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ ขับเคลื่อนสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด BCG Economy Model มั่นใจช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Circular and Green) สู่การปฏิบัติ กรมฯ จึงได้ร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STeP) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมฝึกอบรมผู้ประกอบการเชิงลึกเพื่อเพิ่มมูลค่าด้านธุรกิจ ภายใต้โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมสู่ตลาดสากล (The Future of Thai Innovation : Future Lab – Enhanced Thailand’s BCG) ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มหัตถอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ ในพื้นที่ภาคเหนือ
“การจัดทำโครงการนี้ มีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี การใช้ประโยชน์จากงานวิจัย การออกแบบ การสร้างความแตกต่างของสินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงพัฒนาคุณภาพมาตรฐานและสร้างตราสินค้า ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ และการค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด BCG Economy Model ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับแผนงานหลักของกรมฯ และกระทรวงพาณิชย์”นายเอกฉัตรกล่าว
น.ส.ประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า โครงการ Future.Lab เป็นโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการ ในกลุ่มหัตถอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ อาทิ แฟชั่นและเครื่องหนัง ของขวัญของชำร่วย เครื่องใช้ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน สปาและสุขภาพ ในพื้นที่ภาคเหนือที่มีนวัตกรรม มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 15 แบรนด์ จาก จ.เชียงใหม่ น่าน และแพร่ จากผู้สมัครทั้งสิ้น 45 ราย โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการเกิดองค์ความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างแบรนด์ และแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG Economy Model
โดยการอบรมครั้งนี้ จะมี 5 กิจกรรม ได้แก่ การอบรมเชิงลึกเพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจ (Workshop) จำนวน 3 วัน การอบรมเชิงปฏิบัติการและพัฒนาเชิงลึก (Brand Consultation) ในรูปแบบอบรมรวมกลุ่มจำนวน 4 วัน การให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการสร้างแบรนด์ และการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Brand Consultation) ในรูปแบบให้คำปรึกษาเชิงลึกตัวต่อตัวระหว่างผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญ ระยะเวลา 3 เดือน การจัดทำคู่มือการสร้างแบรนด์รายบริษัท (Brand Book) และแค็ตตาล็อกสินค้าออนไลน์ (E-Catalogue) และการนำเสนอกลยุทธ์ด้านการสร้างแบรนด์ และการพัฒนาของผู้ประกอบการ
ที่ผ่านมา สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า ได้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมให้มีศักยภาพทางการแข่งขันสูงขึ้น อาทิ ในปี 2563 การบ่มเพาะด้านการสร้างแบรนด์ ในกลุ่มสินค้านวัตกรรมทางการเกษตรไทย (IDEALAB : Thai Agricultural Innovation) ปี 2564 การพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมให้มีการเพิ่มมูลค่าธุรกิจด้วยแนวทาง BCG อาทิ ยกระดับบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Circular Packaging) เป็นต้น และยังได้ขยายเครือข่ายพันธมิตรด้านหน่วยงานนวัตกรรม (จากการ MoU) เพื่อยกระดับภาคการส่งออกของไทยด้วยงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม และได้ขยายโอกาสไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ BCG ในภูมิภาค จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้