xs
xsm
sm
md
lg

สบพ.เซ็นจ้าง "ภัคณัฏฐ์ มากช่วย" ผู้ว่าฯ หญิงคนแรก ประสบการณ์ 25 ปี ปั้น "ไทย" ฮับผลิตบุคลากรการบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันการบินพลเรือนลงนามสัญญาจ้าง "ภัคณัฏฐ์ มากช่วย" นั่งผู้ว่าฯ หญิงคนแรก จากพนักงานสู่ผู้บริหารสูงสุด ด้วยประสบการณ์กว่า 25 ปี ช่วยผลักดัน เป็นศูนย์กลางผลิตบุคลากรการบินในภูมิภาค

วันที่ 7 มี.ค. 2565 สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) จัดพิธีลงนามในสัญญาจ้าง นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมี นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ประธานกรรมการ สบพ. เป็นประธานในพิธี โดยมีคณะกรรมการ สบพ. ผู้บริหาร เข้าร่วม ณ อาคารศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน สบพ. กรุงเทพฯ และผ่านระบบ VDO Conference ร่วมกับศูนย์ฝึกการบิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สำหรับ นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย เกิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2510 ปัจจุบันอายุ 54 ปี เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการฝ่ายบริหารสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ในปี 2555-2565 และมีประสบการณ์ในสถาบันด้านการบินมากกว่า 25 ปี ด้านการศึกษา จบการศึกษาระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจ (สาขาการเงินการคลัง) (MBA) จาก City University, Bellevue, Washington State, USA และปริญญาตรี บริหารธุรกิจ (สาขาการบัญชี) (BBA) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ

เช่น หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการบริหารงานภาครัฐที่ดีรุ่นที่ 6 (IRDP), หลักสูตรการกำกับดูแลกิจการ สำหรับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนรุ่นที่ 13 (PDI), หลักสูตรนักบริหารการคมนาคมระดับสูงกระทรวงคมนาคม (นบส.คค.) รุ่นที่ 2 และหลักสูตรนักบริหารการเงินการคลังภาครัฐระดับสูง (บงส.) รุ่นที่ 4 กระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ถือเป็นผู้ว่าการลำดับที่ 8 และเป็นผู้ว่าการฯ หญิงท่านแรกซึ่งเป็นอดีตพนักงานของสถาบันการบินพลเรือน ในฐานะผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสถาบันการบินพลเรือนให้มีความพร้อมที่จะเป็นสถาบันด้านการบินชั้นนำในภูมิภาค เช่น การพัฒนาหลักสูตรตามมาตรฐานสากล การเตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ และอุปกรณ์การเรียนการสอน ตลอดจนศูนย์ฝึกอบรมให้ทันสมัยและมีความพร้อมสำหรับบุคลากรด้านการบิน เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีศักยภาพ ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมการบินในทุกสถานการณ์ สร้างความเชื่อมั่นทางด้านการบินให้แก่ประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางในการผลิตบุคลากรด้านการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น