xs
xsm
sm
md
lg

OR จับมือมิตซูบิชิ-ปณท นำร่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า BEV เพื่อการขนส่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มิตซูบิชิ มอเตอร์ส จับมือ ปณท-OR นำร่องศึกษาการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) เพื่อการพาณิชย์ด้วยรถมิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ สำหรับขนส่งไปรษณีย์และพัสดุ และศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดย OR จะติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในที่ทำการไปรษณีย์นำร่อง 2 สาขา  

นายเออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วย นายกำพุธ อยู่คง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานระบบไปรษณีย์และปฏิบัติการนครหลวง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) และ นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อดำเนินโครงการศึกษานำร่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ในการดำเนินธุรกิจการขนส่ง โดยภายใต้โครงการศึกษานำร่องระยะเวลา 1 ปีนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จะจัดส่งรถยนต์ มิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ จำนวน 2 คัน เพื่อการศึกษาและทำความเข้าใจถึงการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการพาณิชย์ รวมถึงการเก็บข้อมูลการใช้งานเครื่องชาร์จไฟฟ้า พฤติกรรมการใช้งานในกลุ่มของรถขนส่งพัสดุ และความเป็นไปได้ที่จะขยายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

โดยใช้ข้อมูลจากการใช้งานจริง ซึ่งรวบรวมจากการดำเนินงานด้านการขนส่งของไปรษณีย์ไทยภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว ไปรษณีย์ไทยจะใช้รถมิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ ในการขนส่งพัสดุให้แก่ลูกค้า โดยเลือกที่ทำการไปรษณีย์นำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ ที่ทำการไปรษณีย์หลักสี่ กรุงเทพฯ และที่ทำการไปรษณีย์คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อเริ่มการศึกษาดังกล่าว และ OR จะติดตั้งสถานีชาร์จไฟ EV Station PluZ ณ ที่ทำการไปรษณีย์นำร่องทั้งสองสาขา เพื่อชาร์จไฟรถมิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ ด้วยการชาร์จไฟแบบปกติ (AC) ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยไปรษณีย์ไทยจะรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากการใช้งานรถมิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ และการชาร์จไฟฟ้าที่ EV Station PluZ ตลอดจนร่วมกันจัดการฝึกอบรมและลงพื้นที่เพื่อให้พนักงานของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ไปรษณีย์ไทย และโออาร์  ได้แลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคนิคร่วมกัน  

“ความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ เพื่อการสำรวจศักยภาพการใช้งานเชิงพาณิชย์ของยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้า โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของวาระการส่งเสริมยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้าของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เรากำลังเดินหน้าพัฒนาตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์และความสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นความต้องการในหมู่ผู้บริโภคและขับเคลื่อนตลาดนี้ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งเรายังวางแผนที่จะขยายสู่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า สำหรับทั้งรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด ( HEV) นอกเหนือไปจากรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด ( PHEV) ซึ่งมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ถือเป็นบริษัทผู้บุกเบิกตลาดระดับโลกที่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่เพื่อการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 (พ.ศ. 2552) ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ เรากำลังพิจารณาหลากหลายทางเลือก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การศึกษาวัตถุประสงค์การใช้งานเชิงพาณิชย์"
 


นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายปี 2030 (พ.ศ. 2573) ของ OR คือการมุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ตลอดจนวิธีการอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแต่สอคคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว แต่ยังเป็นไปตามหนึ่งในพันธกิจในด้านการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ (Seamless mobility) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดและเป็นแนวทางการใช้พลังงานในอนาคต

ในปีนี้บริษัทมีแผนเปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟ EV Station PluZ เพิ่มขึ้นอีก 350 แห่ง ทั้งภายในและภายนอกสถานีพีทีที สเตชั่น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นผู้นำด้านการขนส่งพัสดุและด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการยกระดับการขนส่งพัสดุให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ มิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ สามารถบรรทุกสินค้าได้สูงสุด 350 กก. มีพื้นที่เก็บสัมภาระเมื่อพับเบาะผู้โดยสารลงมีความยาว 2,685 มม. และประตูแบบสไลด์ ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า
รวมทั้งยังรองรับการชาร์จไฟแบบเร็วด้วยหัวชาร์จ CHAdeMO ซึ่งสามารถชาร์จไฟได้สูงสุดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลาเพียง 35 นาที หรือด้วยระบบการชาร์จไฟแบบปกติจนเต็มแบตเตอรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ในเวลา 7 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีระบบคืนพลังงานขณะเบรกที่จะช่วยแปลงพลังงานจากการเบรกเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ในขณะขับขี่ มิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ มีความคล้ายคลึงกับมิตซูบิชิ เอาต์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ที่สามารถเป็นแหล่งพลังงาน ภายใต้คอนเซ็ปต์ระบบนิเวศพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต หรือ เดนโด ไดรฟ์ เฮาส์ (Dendo Drive House) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดด้านเทคโนโลยี V2X ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส อีกด้วย’

ทั้งนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ได้จัดส่งรถ มิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ จำนวน 9,000 คัน ให้บริษัทขนส่งต่างๆ รวมถึงบริษัทค้าปลีก และหน่วยงานรัฐในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงยังจัดส่งอีก 1,500 คัน เพื่อเป็นรถยนต์ที่ใช้ในกรมไปรษณีย์ของญี่ปุ่นอีกด้วย ก่อนหน้านี้ ในเดือนกรกฎาคม 2564 มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับ บริษัท อีเทอร์นิตี้ แกรนด์ โลจิสติคส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินโครงการศึกษานำร่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ในประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น