BEM ลั่นพร้อมชิงรถไฟฟ้าสายสีส้มทุกเงื่อนไข ไม่เกี่ยงกติกาตัดสิน มั่นใจคุณภาพ ขีดความสามารถทั้งก่อสร้างและต้นทุนการเงิน คาดปี 65 ผลประกอบการรีเทิร์น ดันกำไรสูงกว่าปี 63
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่า จากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) อีกครั้งในส่วนของบริษัทฯ มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลตามขั้นตอน และพร้อมเข้าแข่งขันในทุกกติกาที่ภาครัฐประกาศออกมา
เนื่องจากบริษัทฯ มีความมั่นใจ และเชื่อมั่นในเรื่องคุณสมบัติและขีดความสามารถในการประมูลแข่งขัน และได้เตรียมตัวมาระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีแพกเกจใหญ่ที่มีทั้งงานก่อสร้าง งานบริหาร ด้านการเงิน ฯลฯ ซึ่ง BEM และบริษัทกลุ่ม ช.การช่างฯ มั่นใจว่ามีความสามารถในการดำเนินการ ส่วนกรณีที่ต้องหาพาร์ตเนอร์เพิ่มจะเข้ามาเสริมในส่วนที่พาร์ตเนอร์ทำได้ดีกว่า เช่น ซัปพลายเออร์ หรือสนับสนุนทางการเงิน
“เราพร้อมสู้ได้ทุกกติกาไม่ว่ากติกาไหน โดยในส่วนของงานก่อสร้าง ช.การช่างฯ จะเป็นผู้ดูแลในภาพรวม เรามั่นใจว่าจะสามารถจัดหาเข้ามาดำเนินการได้ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ ซึ่งโครงการนี้คุณภาพ เป็นเรื่องสำคัญ หากไม่มีคุณภาพจะมีผลต่อการเงิน และผู้เข้ามาดำเนินโครงการไม่ใช่แค่ก่อสร้าง แต่ทำโครงการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการและการซ่อมบำรุงที่ต้องมีคุณภาพในอนาคตด้วย” นายสมบัติกล่าว
รายงานข่าวจาก รฟม.แจ้งถึงความคืบหน้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า ล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เห็นชอบการประกาศเชิญชวนและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) แล้ว โดย รฟม.อยู่ระหว่างการประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อนำความคิดเห็นมาใช้ประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาฯ ระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์-6 มีนาคม 2565 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการบริหารการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสถาบันการเงิน ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายระบบรถไฟฟ้านักลงทุนภาคเอกชนและภาคเอกชนทั่วไปที่สนใจในโครงการทั้งในและต่างประเทศ
@คาดปี 65 ผลประกอบการรีเทิร์น กำไรสูงกว่าปี 63
นายสมบัติกล่าวถึงจำนวนผู้โดยสาร รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงว่า ขณะนี้ค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเชื่อว่าผลประกอบการของปี 2565 จะดีกว่าปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิประมาณ 1,000 ล้านบาทแน่นอน และจากแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แล้ว คาดหมายว่าผลประกอบการปี 2565 จะกลับไปอยู่ในระดับที่ดีกว่ากว่าปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ยอมรับว่า ผลประกอบการจะยังไม่สามารถกลับไปอยู่ระดับเหนือปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิกว่า 3,000 ล้านบาทได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความหมายว่าในปี 2566 ผลประกอบการจะกลับมาเติบโต มากกว่าปี 2562 ได้