พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ทราบถึงปัญหาน้ำเสียรวมถึงปัญหามลพิษและความเสื่อมโทรมของลุ่มน้ำแม่กลองบริเวณที่ราบแม่น้ำแม่กลอง บริเวณจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นจึงได้มอบหมายให้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะ ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2565 และลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี ระหว่างวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์-วันอังคารที่ 1 มีนาคม 2565 เพื่อให้คำแนะนำ ประสานงานการปฏิบัติ และข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ให้หน่วยงานนำไปดำเนินการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า การลงพื้นที่ในจังหวัดราชบุรีครั้งนี้เพื่อรับทราบปัญหาน้ำเสียและคุณภาพน้ำพื้นที่เหนือน้ำ กลางน้ำ และท้ายน้ำทั้งน้ำเสียจากบ้านเรือนชุมชน น้ำเสียภาคการเกษตร และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำสาธารณะของประชาชนในพื้นที่ของจังหวัดราชบุรีและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงมายาวนานโดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเพาะปลูกพืชสวน พืชไร่ และการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคนอกจากนี้ราษฎรยังได้รับผลกระทบจากการรุกล้ำของน้ำเค็มจากปากอ่าวไทยที่ต้องการมาตรการแก้ไขเชิงบูรณาการทั้งระบบ
จากการตรวจสอบโครงข่ายระบบเชื่อมโยงและนำเข้าคุณภาพน้ำผิวดินลุ่มน้ำแม่กลองและลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ พบว่าระบบฐานข้อมูลคุณภาพน้ำผิวดินมีข้อมูลเฉพาะลำน้ำสายหลัก (แม่น้ำแม่กลอง 7 สถานี) ในขณะที่ผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำเบื้องต้นด้วยการประเมินดัชนีคุณภาพน้ำ Water Quality Index (WQI) ในลำน้ำสาขาบริเวณคลองปากท่อและคลองวันดาว พบว่าคุณภาพน้ำในพื้นที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก (WQI < 30) ถึงพอใช้ (WQI < 70) บ่งชี้ถึงความสามารถในการรองรับของเสียของระบบโครงข่ายลำน้ำบริเวณรอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบปริมาณโลหะหนักในตะกอนดิน (เลน) หลายชนิดเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ แคดเมียม สารหนู สังกะสี ทองแดง โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว และปรอท
ทั้งนี้ ต้องหาแนวทางการจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งในส่วนของแม่น้ำแม่กลองและคลองสาขาต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่รอยต่ออำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอบ้านแหลม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และต้องมีแผน เนื่องจากยังขาดข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนการดำเนินงานในภาพรวมระดับลุ่มน้ำที่เกี่ยวกับศักยภาพการรองรับมลพิษของระบบลำน้ำหลักและลำน้ำสาขา ตลอดทั้งลำน้ำ จัดทำแนวทาง มาตรการบริหารจัดการน้ำ ป้องกัน ควบคุม และรักษาคุณภาพน้ำ เพื่อบริหารจัดการการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ตามกิจกรรมการใช้ประโยชน์ลุ่มน้ำที่สอดคล้องกับศักยภาพการรองรับมลพิษของระบบโครงข่ายลำน้ำ วิถี ประเพณี และระบบนิเวศทั้งบนบกและในน้ำอย่างเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป