บริษัทตั้งใหม่เดือนม.ค.65 ฟื้นตัวต่อเนื่อง มีจำนวน 7,972 ราย เพิ่ม 9% ส่วนยอดเลิกมีจำนวน 999 ราย ลด 10% ชี้ธุรกิจปลูกพืชสมุนไพรกำลังเป็นดาวรุ่ง แห่จดพุ่ง 700% คาดทั้งปีตั้งบริษัทใหม่ 70,000–75,000 ราย
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนม.ค.2565 ผ่านเฟซบุ๊ซ ไลฟ์ DBD Pubilc Relations ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 7,972 ราย เทียบกับธ.ค.2564 เพิ่ม 115% และเทียบกับม.ค.2564 เพิ่ม 9% ถือเป็นการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่การจดตั้งใหม่เริ่มชะลอตัวลงมาตั้งแต่เดือนเม.ย.2564 โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 29,081.96 ล้านบาท และประเภทธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร ที่ติดอันดับ 3 ต่อเนื่องมาแล้ว 8 เดือนติดต่อกัน ตามการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์และการค้าออนไลน์
ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 999 ราย เทียบกับธ.ค.2564 ลดลง 83% และเทียบกับม.ค.2564 ลดลง 10% มีทุนจดทะเบียนเลิก 2,447.17 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร
ทั้งนี้ เดือนม.ค.2565 ยังทำสถิติใหม่ คือ เป็นเดือนที่จดตั้งใหม่มากที่สุดในรอบ 10 ปี ดูเฉพาะเดือนม.ค.ของแต่ละปีตั้งแต่ปี 2556 และจดเลิกน้อยที่สุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน
นายทศพลกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การจดทะเบียนตั้งใหม่เพิ่มขึ้น มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น และมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งหลายธุรกิจสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ยังสร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตาม ในเดือนม.ค.2565 มีธุรกิจที่น่าจับตา คือ ธุรกิจเกี่ยวกับการปลูกพืชประเทภเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามความต้องการสมุนไพรเพื่อการป้องกันโควิด-19 โดยมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 700% เพราะคนให้ความสำคัญกับการป้องกันโควิด-19 และหันมาใช้การรักษาแบบทางเลือก และพืชสมุนไพรมากขึ้น รวมทั้งมีการสนับสนุนจากภาครัฐ
สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนตั้งใหม่ในปี 2565 คาดว่า ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การเปิดประเทศ และการไม่เพิ่มมาตรการที่เข้มข้นต่อการป้องกันโควิด-19 จะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยการแพร่ระบาดของโอมิครอน จะต้องไม่รุนแรง ซึ่งจากปัจจัยข้างต้น ประเมินว่าการจดทะเบียนในช่วงครึ่งแรกปี 2565 จะมีจำนวน 40,000-42,000 ราย และทั้งปีจะมีจำนวน 70,000-75,000 ราย