“จุรินทร์” โชว์ผลงานประกันรายได้ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4.5-5 แสนล้านบาท แถมไร้การทุจริต เตรียมเดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 4 ต่อไป เตรียมเดินหน้าช่วยเกษตรกรต่อ ผลักดันทำเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มรายได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “ประกันรายได้ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” ว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกร เกิดขึ้นจากพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นเงื่อนไขหนึ่งก่อนการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล วันนี้นโยบายประกันรายได้เกษตรกรเป็นนโยบายของรัฐบาลเดินหน้ามาเข้าปีที่ 3 และกำลังจะขึ้นปีที่ 4 โดยประกันรายได้เกษตรกรช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย นอกจากจะเป็นการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ตัว คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว ยังถือว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพราะประกันรายได้เป็นตัวช่วยในยามที่ราคาพืชเกษตรตกต่ำ หากราคาต่ำกว่าที่ประกันรายได้เอาไว้ ก็จะมีรายได้จากส่วนต่างโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนและเปิดบัญชีไว้
ทั้งนี้ ในช่วงการดำเนินโครงการประกันรายได้ช่วง 3 ปี ได้ส่งเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 450,000-500,000 ล้านบาท ที่สำคัญไม่ส่งผลเฉพาะการฟื้นเศรษฐกิจฐานราก ช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้ แต่ยังช่วยการแก้ปัญหาทางการเมือง ตั้งแต่มีนโยบายประกันรายได้ ม็อบเกษตรกรเราเกือบลืมไป มีน้อยมาก เพราะมีตัวช่วยยามที่พืชเกษตรตกต่ำมีส่วนต่างพยุงชีวิต พยุงรายได้ให้เกษตรกรอยู่ได้ และประกันรายได้ไม่มีทุจริต และทุจริตไม่ได้ มีกระบวนการตรวจสอบมีกระบวนการรับรองจากเจ้าหน้าที่ และ ธ.ก.ส.เป็นผู้ตรวจบัญชีและโอนเงินตรงเข้าบัญชีเกษตรกร การทุจริตเกิดยากมาก
โดยพืชเกษตรที่ประกันรายได้ ยางพาราที่เคยวิจารณ์ว่า 3 กิโลกรัม (กก.) 100 บาท ขณะนี้ยางแผ่นดิบราคาเกิน 60 บาทต่อ กก.แล้ว ไม่ต้องจ่ายส่วนต่าง น้ำยางข้นประกันรายได้ กก.ละ 57 บาท วันนี้ราคา 67 บาทต่อ กก. ยางก้อนถ้วยหรือขี้ยาง สมัยก่อน กก.ละ 12-15 บาท วันนี้ กก.ละ 27 บาท ล่าสุดที่จังหวัดเลย กก.ละ 29 บาท มันสำปะหลัง เมื่อก่อน 1.70-1.80 บาทต่อ กก. วันนี้ 2.50-2.70 บาทต่อ กก. ข้าวโพดประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท วันนี้ราคา 10.00- 10.50 บาทต่อ กก. ปาล์มน้ำมันก่อนหน้าที่ตนจะเข้ามา อยู่ที่ประมาณ กก.ละ 2 บาท วันนี้ปาล์มสูงสุดถึง 12 บาทต่อ กก. และปัจจุบัน 9-10 บาทต่อ กก. โดยประมาณ
นอกจากนี้ พืชเกษตรราคาดีเกือบทุกตัว และผลไม้ราคาดี ตนเรียนในสภาผู้แทนราษฎรว่า ทุเรียนเฉลี่ย กก.ละ 120 บาทในปี 2564 มังคุดเกรดส่งออกบางช่วงถึง กก.ละ 220 บาท ยกเว้นบางช่วงที่ทะลักออกมาและล้งไปรับไม่ทัน เกิดโควิด-19 เช่น มังคุดที่ช่วงติดโควิด-19 และล็อกดาวน์ ราคาจึงลดลง ตอนหลังไปแก้ปัญหาทันท่วงทีก็ช่วยให้ดีขึ้น เฉลี่ยถือว่าราคาดี
สำหรับอนาคตของเกษตรกร คิดว่าเกษตรยังเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ ต้องส่งเสริมสนับสนุนต่อไป ไม่ควรไปด้อยค่าการเกษตร ต้องไม่ทิ้งเกษตรกร หลายประเทศที่ไม่มีเกษตร เมื่อถึงเวลาโควิด-19 เกิดวิกฤตโลก ข้าวก็ไม่มีจะกิน คนไทยอย่างน้อยมีข้าวกิน มีพืชเกษตรบริโภค คือฐานความเป็นไทยที่ต้องรักษาไว้ แต่อนาคตทางการเกษตรที่ต้องทำ คือ พัฒนาปรับปรุง เดินหน้าไปสู่เกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปของไทยพัฒนาไปไกล เช่น ข้าวเป็นเครื่องสำอางและมีราคาสูง เป้าหมายที่ควรเดินหน้าขับเคลื่อน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ซึ่งจะต้องถูกขับเคลื่อนและเป็นอนาคตเศรษฐกิจตัวหนึ่งของไทยต่อไป